รีเซต

ทรัมป์เรียก "ฮอลลีวูด" กลับบ้าน หลังแห่ไปถ่ายทำต่างประเทศ ขู่รีดภาษี 100 %

ทรัมป์เรียก "ฮอลลีวูด" กลับบ้าน  หลังแห่ไปถ่ายทำต่างประเทศ ขู่รีดภาษี 100 %
TNN ช่อง16
14 พฤษภาคม 2568 ( 08:00 )
8

"ภาษีทรัมป์" มาถึงคิวของ Hollywood 


"ภาษีทรัมป์" ยังคงปั่นปวนโลกไม่หยุด และลุกลามไปยังทุกอุตสาหกรรม  ล่าสุดถึงคิวของอุตสาหกรรมบันเทิง การผลิตภาพยนตร์ อย่างฮอลลีวูด 

“เราต้องการให้มีการผลิตภาพยนตร์ในอเมริกา อีกครั้ง!”  นี่คือคำกล่าวของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ

โดยเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา  ทรัมป์ได้ออกมาขู่ว่า จะออกคำสั่งรีดภาษีศุลกากร 100% จากภาพยนตร์ทุกเรื่องที่ผลิตนอกสหรัฐอเมริกา 

โดยให้เหตุผลว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐฯ กำลังตายลงอย่างรวดเร็ว เพราะถูกประเทศต่างๆชักจูงใจให้ไปถ่ายทำนอกสหรัฐ ด้วยมาตรการลดแลกแจกแถมต่างๆ


ทรัมป์ โพสต์ข้อความผ่าน Truth Social ว่า

"ประเทศอื่นๆ กำลังรวมหัวกันทำสิ่งนี้ ดังนั้นมันจึงถือเป็นภัยคุกคามของชาติ มันคือการส่งสารและการโฆษณาชวนเชื่อ”

ทรัมป์ ระบุด้วยว่า เขาได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น กระทรวงพาณิชย์ เริ่มกระบวนการเก็บภาษี 100% 

จากภาพยนตร์ที่ผลิตในต่างประเทศและเข้ามาฉายในสหรัฐอเมริกา โดยให้มีผลในทันที


ด้าน โฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ 

ก็ออกมารับลูกทันทีด้วยการโพสต์ X ทันทีว่า “เรากำลังจะทำ”


สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้แต่งตั้งดาราฮอลลีวูดรุ่นใหญ่ 3 คนอย่าง 

จอน วอยต์, ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน และ เมล กิบสัน เป็น “ทูตพิเศษ” 

ประจำฮอลลีวูดเมื่อเดือน มกราคมที่ผ่านมาหลังรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐ

โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้อุตสาหกรรมหนังฮอลลีวูดกลับมา “ยิ่งใหญ่ ดีขึ้น และแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม”


 ทรัมป์นั้นตั้งใจ อยากให้ฮอลลีวูด หรือวงการบันเทิงสหรัฐ

กลับมายิ่งใหญ่ และแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม 

เพราะที่ผ่านมาเราอาจจะได้ดูหนังจากฮอลลีวูดก็จริง

แต่การผลิตเบื้องหลังนั้นกลับกระจายงานและเม็ดเงินออกไปในทั่วโลก


ความบันเทิงที่ไม่สร้างเม็ดเงินให้คนอเมริกัน ?

 

อุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์เริ่มทยอยถอนตัวออกจากฮอลลีวูดมานานหลายปีแล้ว 

แม้ว่าภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่ฉายในโรงภาพยนตร์สหรัฐฯ จะผลิตในสหรัฐฯ 

ตั้งแต่การเขียนบท วางแผนการถ่ายทำ คัดเลือกนักแสดง ตัดต่อภาพและเสียง 

แต่หนังฮอลลีวูดหลายเรื่องที่เราดูกันนั้น ความจริงแล้ว 

มาจากการประกอบชิ้นงานจากบริษัทต่างๆทั่วโลก

โดยเฉพาะงาน visual effect จากหลายบริษัทผู้เชี่ยวชาญ 

เนื่องจากต้นทุนต่ำกว่าการจ้างในประเทศ 


รวมไปถึงหนังที่ไปถ่ายทำในต่างประเทศก็มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

เพราะสถานที่ถ่ายทำในต่างประเทศก็มักจะมีค่าแรงที่ต่ำกว่า

และหลายบริษัทยังได้กำไร หรือลดต้นทุนเพิ่มได้อีก

จากมาตรการจูงใจต่างๆของรัฐบาลทั่วโลก

ที่มักจะยื่นข้อเสนอจัดเต็มตั้งแต่เงินอุดหนุน ไปถึงภาษี

ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ, ฮังการี, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, แคนาดาและประเทศอื่นๆ 

แม้กระทั่งประเทศไทยเราเองก็เช่นกัน ต่างก็กำลังกวักมือเรียกฮอลลีวูดให้เข้ามากันเยอะๆ

โดยเฉพาะบริษัทภาพยนตร์รายใหญ่ๆ

นับตั้งแต่ Disney, Warner Bros., Universal Pictures รวมถึง Netflix และ Amazon 

เพราะได้การจ้างงาน และโปรโมทการท่องเที่ยวไปในตัว 


และด้วยเหตุผลที่ว่านี้ ทำให้การจ้างงานในอุตสาหกรรมบันเทิงสหรัฐจึงเป็นขาลง

ข้อมูลของสหภาพแรงงานนานาชาติของพนักงานโรงละครและเวที

 (International Alliance of Theatrical Stage Employees)

 เปิดเผยว่า งานเต็มเวลาประมาณ 18,000 ตำแหน่งได้หายไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

โดยส่วนใหญ่อยู่ในแคลิฟอร์เนีย ตั้งแต่ ผู้กำกับภาพ, นักตกแต่งฉาก, 

ช่างไฟ, ช่างแต่งหน้า, ผู้จัดเลี้ยง, ช่างไฟฟ้า ที่พากันตกงาน 


ในขณะที่หลายประเทศกลับสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งการผลิตคอนเทนต์ไปได้อย่างมากมาย

จากทั้งหมดที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 248,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ 2025 

ตามข้อมูลจาก Ampere Analysis


นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบที่มาซ้ำเติมอีกหลายด้าน เช่น การประท้วง และไฟป่า 

พวกพนักงานกองถ่ายเคยคาดหวังว่า อุตสาหกรรมหนังที่ลอสแองเจลิสจะกลับมาบูมได้อีกครั้ง

หลังเกิดการประท้วงหยุดงานโดยคนเขียนบทและนักแสดงเมื่อช่วงปี 2023 

แต่จากสถิติพบว่าการฟื้นตัวก็ยังคงช้ามาก



ไฟป่า ดับแล้วแต่ก็ยังกระทบ Hollywood 


เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ช่วงเดือนมกราคม 

วิกฤตไฟป่าครั้งรุนแรงที่เผาผลาญพื้นที่ในนครลอสแองเจลิส

ก็ยิ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าบรรดาผู้ผลิตภาพยนตร์อาจจะทิ้งฮอลลีวูดไป 

รวมถึงเหล่าตากล้อง นักออกแบบเสื้อผ้า ช่างเทคนิคด้านเสียง

และแรงงานเบื้องหลังอื่นๆ ที่อาจตัดสินใจย้ายออกแทนที่จะพยายามฟื้นฟูชุมชนขึ้นมาใหม่


ทั้งนี้มีรายงานว่าการผลิตภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ในลอสแองเจลิสลดลงเกือบ 40% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ตามข้อมูลจาก FilmLA ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ติดตามอุตสาหกรรมการผลิตสื่อในพื้นที่

ทั้งนี้ข้อมูลจากสมาคมภาพยนตร์สหรัฐฯ อ้างอิงข้อมูลของรัฐบาลในปี 2023

 ชี้ว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์นำรายได้เข้าสหรัฐฯ จากตลาดใหญ่ทั่วโลกและเกินดุลการค้าทุกตลาด


Make Hollywood Great Again เป็นเรื่องที่ดีสำหรับสหรัฐฯ

แต่การใช้วิธีการขึ้นภาษีเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายออกมาคัดค้าน

ทั้งในสหรัฐฯเอง และอีกหลายประเทศที่ต้องรับแรงกระแทกครั้งนี้ 


วิลเลียม ไรน์ช อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ 

ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์ให้กับศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) 

ได้ออกมาเตือนว่า มาตรการแก้แค้นคำสั่งรีดภาษีภาพยนตร์ที่สร้างในต่างประเทศของทรัมป์อาจจะส่งผลเสียร้ายแรง

โดยระบุว่า การแก้แค้นจะยิ่งทำให้อุตสาหกรรมของเราพังพินาศ เราจะเป็นฝ่ายเสียมากกว่าได้

พร้อมชี้ว่าการพยายามอ้างว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกี่ยวพัน

กับความมั่นคงของชาติหรือเป็นภาวะฉุกเฉินของชาตินั้นฟังไม่ค่อยขึ้น

ชาติต่างๆเคลื่อนไหว "คัดค้าน" ภาษีภาพยนตร์

 

นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวจากอีกหลายประเทศที่คัดค้านภาษีภาพยนตร์ของทรัมป์

เช่นออสเตรเลีย โดย เพนนี หว่อง รัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลีย กล่าวว่า 

รัฐบาลจะแจ้งให้ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ทราบว่า

ออสเตรเลียคัดค้านภาษีดังกล่าว 


โดยปัจจุบัน รัฐบาลออสเตรเลียเสนอลดหย่อนภาษี 30% 

สำหรับโปรเจกต์ภาพยนตร์และโทรทัศน์ขนาดใหญ่ที่เข้ามาถ่ายทำในออสเตรเลีย 

และลดหย่อนภาษี 30% สำหรับงานโพสต์โปรดักชัน งานดิจิทัล และวิชวลเอฟเฟกต์ 

นอกจากนี้ รัฐบาลของแต่ละรัฐยังเสนอมาตรการจูงใจทางภาษีเพิ่มเติมด้วย


แมทธิว ดีเนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารขององค์กรอุตสาหกรรม Screen Producers Australia

 ได้ออกแถลงการณ์หลังทรัมป์ประกาศแผนเก็บภาษีภาพยนตร์ว่า 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ภาษีดังกล่าวจะก่อให้เกิด “คลื่นกระแทก” ไปทั่วโลก


ด้านเอลเลียต วีลเลอร์ นักประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์จากเมืองโกลด์โคสต์ 

กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ ABC ว่า ภาษีศุลกากรจะทำให้ต้นทุนการผลิตในสหรัฐฯ สูงขึ้น

แทนที่จะลดลง ดังนั้นจึง “ไม่มีใครได้ประโยชน์จากเรื่องนี้”


เช่นเดียวกับสมาคมผู้ผลิตสื่อแคนาดา (CMPA) 

เตือนถึงผลกระทบรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมการผลิตสื่อ 

จะก่อให้เกิดการหยุดชะงักครั้งใหญ่  และสร้างความยากลำบากทางเศรษฐกิจ

ในภาคการผลิตสื่อทั้งในฝั่งสหรัฐฯ และแคนาดา

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง