รีเซต

อินเดียประสบความสำเร็จ ! ส่งยานอวกาศจันทรายาน-3 ออกเดินทางไปลงจอดบนดวงจันทร์

อินเดียประสบความสำเร็จ ! ส่งยานอวกาศจันทรายาน-3 ออกเดินทางไปลงจอดบนดวงจันทร์
TNN ช่อง16
15 กรกฎาคม 2566 ( 14:34 )
230

วันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา จรวด LVM3 ของอินเดียประสบความสำเร็จส่งยานอวกาศจันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) ขึ้นสู่อวกาศเพื่อออกเดินทางไปลงจอดบนดวงจันทร์ การปล่อยจรวดครั้งนี้มีขึ้นจากบริเวณศูนย์อวกาศสาทิส ดาวัน (Statish Dhawan) บริเวณชายฝั่งศรีหริโคตา (Sriharikota) ตั้งเป้าอินเดียกลายเป็นชาติที่ 4 ที่นำยานอวกาศแบบไร้มนุษย์ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จต่อจากสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และจีน


จรวดปล่อยตัวขึ้นฐานท่ามกลางเสียงตบมือโห่ร้องแสดงความยินดีจากคนอินเดียหลายพันคนที่เดินทางไปชมการปล่อยจรวดใกล้บริเวณศูนย์อวกาศสาทิส ดาวัน (Statish Dhawan) และอีกหลายล้านคนที่ชมผ่านการถ่ายทอดสดผ่านทางทีวี หลังการปล่อยจรวดประมาณ 16 นาที ยานอวกาศจันทรายาน-3 แยกตัวออกจากจรวด LVM3 เข้าสู่วงโคจรของโลกเริ่มต้นการเดินทางสู่ดวงจันทร์


อินเดียนับเป็นประเทศที่มีความก้าวทางด้านเทคโนโลยีอวกาศระดับต้น ๆ ของโลก โดยมีจุดเด่นที่ต้นทุนในการขนส่งอวกาศต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ คาดว่าโครงการยานอวกาศจันทรายาน-3 จะใช้งบประมาณเพียง 6,000 ล้านรูปี หรือ 73 ล้านเหรียญสหรัฐ ภารกิจในครั้งนี้เป็นภารกิจต่อเนื่องจากยานอวกาศจันทรายาน-2 ที่ลงจอดบนดวงจันทร์ไม่สำเร็จในปี 2019


ยานอวกาศจันทรายาน-3 ใช้ประโยชน์จากแรงโน้มถ่วงของโลกเพื่อเดินทางไปยังดวงจันทร์โดยมีกำหนดการลงจอดบนดวงจันทร์บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ประมาณเดือนสิงหาคม ซึ่งยังไม่มีประเทศไหนส่งยานอวกาศไปสำรวจ ภายในยานอวกาศจันทรายาน-3 ถูกติดตั้งรถหุ่นยนต์สำรวจชื่อว่า ปรายัน (Pragyan) ลงวิ่งสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์และทำให้อินเดียเป็นประเทศแรกที่สำรวจพื้นที่บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์


จุดลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ที่ยานอวกาศจันทรายาน-3 เลือกลงจอดอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ลงจอดของยานอวกาศลูนาร์ 25 (Luna 25) ของประเทศรัสเซีย ซึ่งมีกำหนดการลงจอดในเดือนสิงหาคมเช่นเดียวกัน ความน่าสนใจของบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ คือ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่ามีปริมาณน้ำแข็งอยู่เป็นจำนวนมาก โดยสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานสำหรับจรวดและใช้เพื่อดำรงชีพของมนุษย์ในอนาคตหากมีการก่อสร้างสถานีสำรวจเพื่ออยู่อาศัยระยะยาวในบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์




ที่มาของข้อมูล Space.com

ที่มาของรูปภาพ Twitter.com/isro 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง