บราซิล เผยผลศึกษา "พิษงู" จาราราคัตสุ อาจช่วยต้านโควิด-19 ได้
วันนี้ (1 ก.ย.64) นักวิจัยบราซิลเผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ “โมเลกุลส์” ในเดือนนี้ พบว่า โมเลกุลในพิษของงูจาราราคัตสุ (jararacussu) สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโควิด-19 ในเซลล์ของลิงได้ 75%
โมเลกุลดังกล่าว เป็นเปปไทด์หรือลูกโซ่โมเลกุลของโปรตีนขนาดยาวของกรดอะมิโน ที่สามารถเชื่อมต่อกับเอนไซม์ของไวรัสโควิด-19 ที่เรียกว่า พีแอลโปร (PLPro) ซึ่งมีความสำคัญต่อการแบ่งตัวของไวรัสโควิดได้ โดยไม่ทำอันตรายต่อเซลล์อื่นๆ
ด้าน มหาวิทยาลัยเซาเปาโล ที่ร่วมโครงการวิจัยระบุว่า ขั้นตอนต่อไป นักวิทยาศาสตร์จะประเมิณประสิทธิภาพของโมเลกุลในพิษงู ในปริมาณที่แตกต่างกัน ว่าจะสามารถป้องกันไวรัสโควิดเข้าสู่เซลล์ตั้งแต่แรกได้หรือไม่ โดยหวังจะทดสอบสารในเซลล์ของมนุษย์ แต่ยังไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลา
"จาราราคัตสุ" เป็นหนึ่งในงู ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบราซิล มีความยาวไม่เกิน 2 เมตร อาศัยอยู่ตามชายฝั่งในป่าแอตแลนติก และยังพบงูชนิดนี้ในโบลิเวีย ปารากวัย และอาร์เจนตินาด้วย
ราฟาเอล กุยโด หนึ่งในนักวิจัยโครงการนี้ ระบุว่า เป็นที่รู้กันดีว่า เปปไทด์มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย และสามารถสังเคราะห์เปปไทด์ได้ จึงไม่จำเป็นต้องจับหรือเลี้ยงงูชนิดดังกล่าว และย้ำว่าประชาชนไม่ควรไปไล่ล่างู เพราะพิษของมันไม่สามารถนำมาต้านโควิดได้โดยตรง