รีเซต

จับสัญญาณ! ระบบสาธารณสุขล่มสลายหรือยัง? หลังเข้าวิกฤตโควิดระบาดหนัก

จับสัญญาณ! ระบบสาธารณสุขล่มสลายหรือยัง? หลังเข้าวิกฤตโควิดระบาดหนัก
Ingonn
2 กรกฎาคม 2564 ( 15:32 )
341

 

จะเรียกว่า “ระบบสาธารณสุขไทยล่มสลายได้หรือยัง?” หลังจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรักษาโรคโควิด-19 ประจำโรงพยาบาลต่าง นักวิเคราะห์จากสถาบันระดับประเทศ หรือหน่วยงานต่างๆที่เห็นภาพรวมในการรักษาโควิด-19 ต่อไม่ไหวเพราะเกิดวิกฤต เตียง ยาไม่พอ วัคซีนขาดจนต้องเลื่อนฉีด ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มระดับนิวไฮอย่างต่อเนื่อง สัญญาณเหล่านี้บอกถึงระบบที่ล่มสลายแล้วหรือยัง

 

 

วันนี้ TrueID จะมาถอดบทเรียนการล่มสลายของระบบสาธารณสุขในต่างประเทศ เพื่อเปรียบเทียบกับสาธารณสุขไทย ว่าเข้าใกล้จุดล่มสลายมากแค่ไหน และสถาบันทางการแพทย์ต่างๆ พร้อมให้การแก้ไขอย่างไรบ้าง

 

 


สัญญาณสาธารณสุขล่มสลายในต่างประเทศ

 

ประเทศอินโดนีเซีย


สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies) ออกแถลงการณ์ ระบุ จำนวนผู้ติดเชื้อที่กำลังเพิ่มขึ้นทั่วอินโดนีเซียซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทำให้โรงพยาบาลในกรุงจาการ์ตาและอีกหลายเมืองประสบภาวะขาดแคลนเตียงและออกซิเจนสำหรับผู้ป่วยโควิด และต้องการทั่วโลกช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประเทศอย่างอินโดนีเซียสามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียชีวิต

 

 

 

ประเทศชิลี


ดอกเตอร์แดเนียล โรดริเกวซ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค ไอซียู ของโรงพยาบาลฉุกเฉินชิลี เปิดเผยว่าระบบสาธารณสุขของชิลี ใกล้จะล่มสลายเต็มทน เนื่องจากขณะนี้โรงพยาบาลต่างๆ เริ่มไม่มีเตียงรับผู้ป่วยโควิดฉุกเฉินแล้ว แม้ชิลีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรมากเป็นลำดับต้นของโลก

 

 

 

ประเทศญี่ปุ่น


สมาคมการแพทย์ฉุกเฉินและสมาคมการแพทย์วิกฤติของญี่ปุ่น ระบุว่า หลายโรงพยาบาลมีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมาก ทำให้แพทย์และพยาบาลมีไม่เพียงพอ ทรัพยากรทางการแพทย์มหาศาลถูกระดมมาใช้ดูแลผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 ทำให้ญี่ปุ่นขาดแคลนเตียงผู้ป่วย เจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาล รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ เครื่องช่วยหายใจ โดยเฉพาะหน้ากาก N95 ชุดกาวน์และกระจังป้องกันใบหน้า (face shield)

 

 

 

ประเทศบราซิล


สถาบันด้านสาธารณสุขชั้นนำของบราซิลออกมาเตือนว่า ระบบสาธารณสุขตามเมืองใหญ่ๆ ส่วนมากของบราซิลใกล้จะล่มแล้วเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่พุ่งสูงจากโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์บราซิล ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ระบุว่าสถานการณ์ในบราซิลถือว่า น่ากังวลมาก และเตือนถึงการทะลักของโรคในภูมิภาคที่อาจเกิดขึ้นได้

 

 

 

ประเทศอินเดีย


เป็นประเทศแรกๆที่เรามักได้ยินข่าวเกี่ยวกับ ระบบสาธารณสุขล่มสลาย เนื่องจากอินเดียมียอดผู้ติดเชื้อในประเทศทำสถิติรายวันสูงที่สุดในโลก โรงพยาบาลต่างๆ ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ อีกทั้งยังขาดออกซิเจนที่จะนำมารักษาผู้ป่วย ทำให้แพทย์จำนวนมากต้องขอให้ประชาชนรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ขณะที่โรงพยาบาลในรัฐอื่น ๆ ก็ไม่สามารถแบ่งปันเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลในเมืองหลวงได้ เนื่องจากต้องการสำรองไว้ใช้เอง นอกจากนั้นอัตราการเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ที่เผาศพไม่เพียงพอ ต้องเร่งเผาศพทันทีบริเวณสถานที่ต่างๆที่มีลานกว้าง เช่น ลานจอดรถ หรือชาวบ้านบางกลุ่มก็เลือกโยนศพทิ้งลงแม่น้ำตามที่เป็นข่าว

 

 


ย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย แพทย์หลายคนเริ่มออกมาพูดถึงวิกฤตโควิด-19 ที่เริ่มเกินจะรับไหว ไม่ว่าจะเตียงไอซียูเต็ม เตียงรับผู้ป่วยโควิดไม่เพียงพอ บุคลากรทางการแพทย์เริ่มติดเชื้อ สิ่งเหล่านี้เริ่มบอกสัญญาณอะไร

 

 

 

หมอไทยชี้ สถานกาณ์โควิดเข้าขั้นวิกฤตแล้ว

 

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้โพสต์ภาพบรรยากาศของผู้ป่วยที่มาต่อคิวเพื่อรอเข้าการรักษาตั้งแต่เช้ามืด และสภาพของผู้ป่วยที่นอนบนเตียงผู้ป่วยล้นออกมานอกอาคาร

 

 

ภาพจาก Facebook ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

 

 


นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อบรมอายุรแพทย์จบใหม่ 4 สาขา ได้แก่ อายุรแพทย์ อายุรแพทย์โรคปอด อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ และเวชบำบัดวิกฤต ก่อนปฏิบัติงานในพื้นที่เขตสุขภาพ กรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลบุษราคัม เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 ว่า “อยากฝากพวกเราให้ดูแลผู้ป่วยดีที่สุด วันนี้ขาดแคลนจริงๆ ไอซียู เราไม่อยากให้ผู้ป่วยต้องรอ วันนี้ขอกราบขอบคุณน้องๆทุกคนที่ให้ความร่วมมือ หลายๆ คนอาจคิดว่า ทำไมต้องเป็นฉัน ต้องเป็นเรา จึงต้องขอความร่วมมือจริงๆ”  ซึ่งทาง สธ. ไม่ได้อยากบังคับให้ทำงาน แต่ประเทศกำลังประสบภาวะวิกฤต หากเราไม่ช่วยเหลือผู้ป่วย หากควบคุมกทม.ไม่ได้ ก็จะกลับไปยังต่างจังหวัดเช่นกัน

 

 


รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟสบุ๊กเกี่ยวกับสถานการณ์เตียงผู้ป่วยวิกฤตคนป่วยโควิด-19 ไม่มีแล้วที่โรงพยาบาลศิริราช ได้พบโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ในโรงพยาบาลศิริราชประมาณ 30% เมื่อสิบวันก่อน แต่วันนี้น่าจะเกินครึ่งไปแล้ว พร้อมทั้งยังส่งสัญญาณเตือนสถานการณ์โควิด-19 รอบนี้ว่าอาจกำลังเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 4

 

 


ดร.สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง อาจารย์พิเศษคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เตือน 7 วันอันตราย เข้าสู่ “โควิดระลอก 4” รุนแรงระดับคลื่นสึนามิ พร้อมแนะนำให้ประชาชนทุกคน ผู้ประกอบการทุกภาคส่วน รีบล็อกดาวน์ตัวเองจริงจัง และทำตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เหมือนในปี 63 ช่วงการระบาดครั้งแรก

 

 

ซึ่งที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่รวมสถานการณ์เตียงไม่พอจากต่างจังหวัดอีกด้วย

 

 

 

กระทรวงสาธารณสุขชี้ ไทยยังไหว ไม่ล่มสลาย!


นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยในการประชุมทางไกลเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2564 ระบุว่า ในภาวะวิกฤตเช่นนี้จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับผู้บริหารส่วนภูมิภาคให้มากขึ้น เช่น ปัญหาเรื่องยา เรื่องเตียงไม่พอ เกิดในบางพื้นที่ที่พบผู้ป่วยจำนวนมาก ไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมด และระบบสาธารณสุขไม่ได้ล่มสลาย

 

 

ทั้งนี้ ขอให้ทุกจังหวัดให้ความสำคัญกับการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เน้นความสามัคคี ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ทั้งการนำมาตรการ Bubble and Seal ยุทธการขนมครก ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาหลายจังหวัดสามารถบริหารจัดการป้องกันควบคุมโรคของแต่ละพื้นที่ทำได้ดีมาก

 

 


นายกมั่นใจเปิดประเทศใน 120 วัน

 

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เผยโรดแมป “ประเทศไทยต้องเปิดประเทศ ภายใน 120 วัน”

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวยอมรับว่า หากเปิดประเทศมีความเป็นไปได้ว่าอาจทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบ้าง จะต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกัน เมื่อคำนึงถึงความอยู่รอดในการทำมาหากินของประชาชน และผ่านการประเมินอย่างรอบคอบว่าอยู่ในระดับที่พอจะรับได้ ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการรักษาชีวิตของคนไทยไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมาก จนประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลก รวมทั้งหลีกเลี่ยงไม่ให้ระบบสาธารณสุข ถูกทำลาย ขณะนี้ภารกิจต่อไป คือ ทุกคนสามารถกลับมาทำมาหากินกันได้ปกติอีกครั้งโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการเปิดประเทศ ภายใน 120 วันให้ได้

 

 

 

ข้อเสนอช่วยภาครัฐป้องกันวิกฤตโควิด-19


เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมาทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศแถลงตามที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเปิดประเทศใน 120 วัน ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ยังคงเพิ่มสูงขึ้นและอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบการรักษาพยาบาล หากทำให้เกิดการระบาดใหญ่ระลอกที่ 4 และนำเชื้อกลายพันธุ์ซึ่งมีการระบาดอย่างรวดเร็ว

 

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยจึงมีความห่วงใยต่อนโยบายเปิดประเทศใน 120 วัน ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

 

 

1. ต้องมีมาตรการที่ชัดเจน มีประสิทธิผล นำสู่การปฏิบัติ และติดตามการควบคุมโรคอย่างเต็มที่ โดยต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้สถานการณ์การระบาดดีขึ้นโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งต้องมีการดำเนินการควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะไม่ควรประกาศให้มีวันหยุดยาว ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ ยากที่จะควบคุม เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา 

 

 

2. ต้องมีการคัดกรองเชิงรุกอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาด โดยการระดมสรรพกำลังคัดกรองโรคในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งโรงงาน ตลาดสดและแคมป์คนงานทั่วประเทศ ตลอดจนใช้มาตรการจำกัดพื้นที่เมื่อมีการตรวจพบการติดเชื้อ เพื่อจำกัดการกระจายของแหล่งแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วที่สุด 

 

 

3. ต้องมีการดำเนินการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในการควบคุมโรค โดยเฉพาะการป้องกันการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว การลักลอบเล่นการพนัน การมั่วสุมชุมนุม แหล่งบันเทิง และการควบคุมการเดินทางของผู้มีความเสี่ยงหรือผู้ที่เป็นโควิด-19 

 

 

4. ต้องมีการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้เพียงพอ ทั้งปริมาณและคุณภาพโดยให้ความสำคัญกับความเสี่ยงของการเกิดการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีนที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันลดลง รวมทั้งจัดให้มีการกระจายวัคซีนโควิด-19 อย่างเป็นระบบ มีความชัดเจน โปร่งใส โดยไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองหรือผลประโยชน์ใด ๆ  

 

 

5. ต้องมีการจัดทำมาตรการรับนักท่องเที่ยวเพื่อการเปิดประเทศใน 120 วัน ที่ให้ความสำคัญกับมาตรการการควบคุมโรค มากกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้การเปิดประเทศเป็นต้นเหตุของการระบาดระลอกที่ 4 

 

 

6. ต้องมีการทบทวนความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่งก่อนการเปิดประเทศเมื่อครบ 120 วัน ว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยพิจารณาถึงสถานการณ์การระบาดภายในและภายนอกประเทศ การครอบคลุมของการได้รับวัคซีนโควิด 19 ของประชากรไทย การแพร่กระจายเชื้อกลายพันธุ์ และความพร้อมของระบบการรักษาพยาบาลของประเทศ

 

 

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ขอแสดงความห่วงใยดังกล่าวมายังผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และขอเป็นกำลังใจให้คนไทยทุกคนฟันฝ่าวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน

 

 


จากสถานการณ์ทั้งหมดที่รวบรวมมา อาจไม่สามารถระบุได้ชัดเจนเลยว่า ระบบสาธารณสุขไทยใกล้ล่มสลายหรือไม่ เนื่องจากทางภาคส่วนรัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุขได้มีแผนการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 พร้อมทั้งยืนยันว่า “ระบบสาธารณสุขไม่ได้ล่มสลาย” 

 

 


ข้อมูลจาก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) , มติชน , thecoverage , Hfocus , ข่าวสด , TNN WORLD

 

 

 

-------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง