รีเซต

รองปลัดสธ. สะอื้น สารภาพ ไอซียูไม่เหลือ หมอศิริราชจับตา 2 สัปดาห์นี้ เดลต้าป่วยพุ่ง 60-70 %

รองปลัดสธ. สะอื้น สารภาพ ไอซียูไม่เหลือ หมอศิริราชจับตา 2 สัปดาห์นี้ เดลต้าป่วยพุ่ง 60-70 %
มติชน
2 กรกฎาคม 2564 ( 09:24 )
74

รองปลัดสธ.สะอื้น สารภาพแพทย์จบใหม่ “โควิดวิกฤตไอซียูล้นมือ” ด้าน “หมอศิริราช” ให้จับตา 2 สัปดาห์จากนี้ สายพันธุ์เดลต้าทำผู้ป่วยพุ่ง 60-70 %

 

 

 

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดอบรมอายุรแพทย์จบใหม่ 4 สาขา ได้แก่ อายุรแพทย์ อายุรแพทย์โรคปอด อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ และเวชบำบัดวิกฤต ก่อนปฏิบัติงานในพื้นที่เขตสุขภาพ กรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลบุษราคัม เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 โดยจะเริ่มปฏิบัติงานในวันนี้เป็นวันแรก

 

 

 

ช่วงหนึ่งการอบรม นพ.ธงชัย ได้ให้ข้อมูลแก่แพทย์เฉพาะทาง 4 สาขาถึงการปฏิบัติงานช่วยผู้ป่วยโควิดในภาวะวิกฤตพื้นที่กทม.และปริมณฑล โดยระหว่างนั้น นพ.ธงชัย กล่าวพร้อมเสียงสะอื้นไห้ว่า ” อยากฝากพวกเราให้ดูแลผู้ป่วยดีที่สุด วันนี้ขาดแคลนจริงๆ ไอซียู เราไม่อยากให้ผู้ป่วยต้องรอ วันนี้ขอกราบขอบคุณน้องๆทุกคนที่ให้ความร่วมมือ หลายๆ คนอาจคิดว่า ทำไมต้องเป็นฉัน ต้องเป็นเรา จึงต้องขอความร่วมมือจริงๆ ”

 

 

ขณะที่ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล วิเคราะห์สถานการณ์โควิดว่า ” อยากให้ทุกคนได้ลองมองภาพในอนาคตข้างหน้าแบบไม่ต้องไกลถึง 120 วัน เอาแค่ 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าก็ได้ว่าเราอาจต้องเจออะไร ที่เลือก 2 สัปดาห์ก็เพราะว่ามาตรการใดๆ ก็ตามที่เราหวังสกัดการระบาดกว่าจะเห็นว่าได้ผลหรือไม่ก็คงใช้เวลาขนาดนั้น ในระหว่างนี้เราก็คงต้องอยู่กับความจริงไปก่อน

เสียงจากภาคการแพทย์ที่ดังขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดจากสถานการณ์การระบาดที่หนักหน่วงขึ้นมาก ดูจากข้อมูลที่ ศบค. ประกาศรายวันเราอาจสนใจแต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้เสียชีวิตกันวันต่อวัน แต่ถ้าดูแนวโน้มแบบนี้เราจะมองภาพได้ชัดขึ้น แค่สัปดาห์เดียว กทม. มีผู้ป่วยใหม่รายวันเพิ่มขึ้นถึง 77% และในเวลาสัปดาห์เดียว ทั้งประเทศมีผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้น 320 คน (+21%) และผู้ป่วย ICU เพิ่มขึ้น 94 คน (+22%) และถ้ามองย้อนกลับไปไกลอีกหน่อย ในเวลาแค่ 2 เดือน เรามีผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้น 4.4 เท่า และผู้ป่วยใน ICU เพิ่มขึ้น 4.7 เท่า

 

 

ในขณะที่การระบาดเกิดขึ้นในชุมชนเป็นวงกว้างและแทรกซึมไปทั่ว อนุมานได้จากข้อมูลการตรวจหาเชื้อ COVID ทั้งประเทศ เทียบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ จะพบว่า อัตราการตรวจพบเชื้อ (positive rate) สูงขึ้นชัดเจนในทุกเขตสุขภาพ โดยเฉพาะเขต 13 (กทม), 4 (ภาคกลาง), 5 (ภาคตะวันตก), 6 (ภาคตะวันออก) และ 12 (ภาคใต้) โดยเขต กทม. มี positive rate สูงขึ้นมากจาก 8.7% ไปเป็น 10.2% โดยที่จำนวนการตรวจเพิ่มขึ้นน้อยมาก ราว 4% บ่งชี้ว่าความสามารถในการตรวจน่าจะชนเพดานแล้ว ไม่สามารถตรวจได้เพิ่มกว่านี้ และการพบว่า positive rate ขึ้นเร็วกว่าจำนวนที่ตรวจได้ บอกโดยนัยอยู่แล้วว่าเรากำลัง undertest อยู่ หมายความว่าจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่รายงานทุกวันนี้ยังต่ำกว่าความเป็นจริงพอสมควร

 

 

การแพร่ของ Delta variant ที่ทำให้เกิดการระบาดระลอก 4 ในเขต กทม. และปริมณฑล เกิดขึ้นเร็วกว่าคาด ถ้าอิงบทเรียนของ UK และ US สัดส่วนของ Delta variant น่าจะเพิ่มเป็น 60-70% ภายใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า และถ้าเทียบข้อมูลของ UK จะเห็นว่าช่วงระยะแบบนี้จำนวนผู้ป่วยใหม่จะเร่งตัวสูงขึ้น อย่าแปลกใจว่าเราอาจเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอีก (แม้ว่าจะไม่เพิ่มแบบ exponential เพราะมีเพดานจำนวนที่ตรวจได้ต่อวัน) และจำนวนผู้ป่วยหนัก หนักมาก (ICU) และผู้เสียชีวิต จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ภายใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง