รีเซต

'จุรินทร์' ยัน 18 กลุ่มสินค้าสำคัญยังทรงตัว เข้มตรึงราคา สั่งปลัด พณ.คุยเกษตร หาทางออกต้นทุนอาหารสัตว์พุ่ง

'จุรินทร์' ยัน 18 กลุ่มสินค้าสำคัญยังทรงตัว เข้มตรึงราคา สั่งปลัด พณ.คุยเกษตร หาทางออกต้นทุนอาหารสัตว์พุ่ง
มติชน
14 มีนาคม 2565 ( 15:20 )
38
'จุรินทร์' ยัน 18 กลุ่มสินค้าสำคัญยังทรงตัว เข้มตรึงราคา สั่งปลัด พณ.คุยเกษตร หาทางออกต้นทุนอาหารสัตว์พุ่ง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์ราคาสินค้า ว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในรายงานราคาสินค้าทุกวัน โดยเฉพาะสินค้าที่สำคัญต่อการอุปโภคบริโภค 18 หมวด จากรายงานล่าสุด พบว่า สินค้าส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด ราคาทรงตัว โดยเฉพาะหมวดอาหารสด ราคาหมูเนื้อแดงเริ่มทรงตัว ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศ ประมาณ 150 บาท/กก. ในห้างใหญ่ เช่น แม็คโคร โลตัสและบิ๊กซี ขายหมูเนื้อแดง 134 บาท/กก. ส่วนราคาไก่ทรงตัวใกล้เคียงเดือนกุมภาพันธ์ ราคาไข่ไก่(เบอร์3) เฉลี่ย 3.46 บาท/ฟอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคาขายปลีกยังไม่มีการปรับราคาซองละ 6 บาท ที่มีข่าวปรับราคาเป็นการปรับกระบวนการทางการตลาดภายในของบริษัท หมวดอาหารกระป๋องยังไม่อนุญาตให้ปรับขึ้นราคา แต่ต้องยอมรับความจริงว่าต้นทุนกระป๋องสูงขึ้น เพราะราคาเหล็กสูงขึ้น 40-45% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นของราคาเหล็กในตลาดโลก มีผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ข้าวสารถุงราคาทรงตัว ซอสปรุงรสราคาทรงตัว ส่วนน้ำอัดลมไม่มีการขึ้นราคา นมและผลิตภัณฑ์จากนม มีหนึ่งยี่ห้อที่ขออนุญาตปรับขึ้นแต่กระทรวงพาณิชย์ไม่อนุญาตให้ปรับขึ้น หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่มีการปรับราคาขึ้นแต่มีการจัดโปรโมชั่นลดราคาโดยต่อเนื่อง และหมวดซักล้างไม่มีการปรับราคาขึ้น เป็นต้น

 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับอาหารสัตว์ ต้องยอมรับว่าต้นทุนสูงขึ้นจริงต้นทุนขึ้นอยู่กับส่วนผสม 3 ส่วนหลัก1.ข้าวสาลี 2.ข้าวโพด 3.ปลาป่น ซึ่งข้าวโพดราคาสูงขึ้น เมื่อก่อนกิโลกรัมละ 6-8 บาท ขณะนี้ 11-12 บาท/กก. เกษตรกรพอใจแต่กระทบต้นทุนอาหารสัตว์ ส่วนปศุสัตว์ไม่ค่อยพอใจเพราะต้นทุนการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อราคาเนื้อสัตว์ ข้าวสาลีราคาปรับสูงขึ้นเยอะเพราะแหล่งผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ของโลกคือ ยูเครนอยู่ในภาวะสงครามส่งผลต่อปริมาณในตลาดโลก และราคาข้าวสาลีสูงขึ้นมาก ต้องมีการหาทางออกร่วมกันโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯเป็นตัวหลักเพราะดูต้นทุนการผลิต ซึ่งได้มอบหมายปลัดกระทรวงพาณิชย์กับปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งหารือร่วมกัน ทราบว่าจะมีการประชุมร่วมกันวันที่ 15 มีนาคมเพื่อดูข้อเท็จจริงทั้งหมดในเรื่องอาหารสัตว์ลึกถึงต้นทุนและมาตรการต่างๆที่ควรนำมาใช้ให้ต้นทุนการผลิตด้านปศุสัตว์ปรับลงมาได้

 

“ รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลทุกฝ่ายทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้บริโภค ผมคิดว่าในภาวะนี้ทุกฝ่ายเริ่มเข้าใจและเห็นภาพว่าเป็นภาวะสงคราม แม้จะไม่เกิดบ้านเราแต่มีผลกระทบไปทั่วโลก เห็นทันตาว่ากระทบอะไรบ้าง รัฐบาลต้องมาดูในสิ่งที่คิดว่าเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย ตอนนี้สินค้ามีทั้งปรับขึ้นปรับลง โดยเราดูให้สอดคล้องสถานการณ์ และสมดุลกับทุกฝ่าย หากรายใดจำเป็นปรับ ก็ให้ยื่นมาดูข้อเท็จจริง และดูเป็นรายๆ ไม่ได้เหมาทั้งหมด ตอนนี้ผมยังไม่อนุมัติ หากสินค้าใดปรับขึ้น เกินที่มีกรอบกำหนดไว้ ก็ถือว่ามีความผิด ” นายจุรินทร์ กล่าว

 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราทำงานมาโดยต่อเนื่อง ทั้งพาณิชย์ลดราคา!ช่วยประชาชน ซึ่งใช้งบประมาณน้อยมากแค่บริหารจัดการ อาศัยความร่วมมือ ซึ่งผู้ประกอบการต้องลดกำไรบางส่วน ซึ่งทำได้ระดับหนึ่งถ้าทำตลอดไปผู้ประกอบการก็อยู่ไม่ได้ ของก็จะขาดเพราะการผลิตถูกยกเลิกต้องมาดูว่าความพอดีอยู่ตรงไหนและขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ให้อยู่ได้ด้วยกันทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้บริโภค อย่างเดือดร้อนน้อยที่สุดและได้ประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด จะพิจารณาเป็นหมวดสินค้าและเป็นรายๆไป โดยพิจารณาจากข้อมูลและข้อเท็จจริงและเอกสารที่เป็นข้อเท็จจริงมีผลตามกฎหมาย เชื่อว่ามีทั้งราคาปรับขึ้น ทรงตัวและลดลง

 

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เรื่องอาหารสัตว์นั้น วันที่ 15 มีนาคม จะหารือกับกระทรวงเกษตรฯ ถึงแนวทางแก้ไขปัญหา ดูสภาพความเป็นจริง และหยิบยกประเด็นที่ภาคเอกชนนำเสนอ ทั้งเรื่องการปรับลดภาษีนำเข้า ยกเลิกสูตรนำเข้า 1/3 ยกเลิกโควตาปริมาณนำเข้า รวมถึงสต็อก และแหล่งนำเข้าอื่นๆ แทนรัสเซียกับยูเครน คงไม่อาจระบุได้ว่าจะให้ปรับราคาหรือไม่ หรือ แนวทางอย่างไร แต่อย่างไรก็ตรม ยอมรับว่า ต้นทุนผลิตอาหารสัตว์ ปุ๋ย เหล็ก สูงมาจากแหล่งประเทศที่ไทยต้องนำเข้า กระทรวงพาณิชย์เน้นสมดุลราคาไม่กระทบผู้บริโภคและปริมาณไม่ขาดแคลน หรือ ฉวยโอกาสทางการค้า


แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แม้ตอนนี้มีผู้ผลิตสินค้าบางกลุ่มใน 18 กลุ่มที่กระทรวงพาณิชย์ จับตาเป็นพิเศษ ยื่นขอปรับราคา ก็จะไปพิจารณาโครงสร้างก่อน และเป็นการเรียกหารือเป็นรายๆ โดยรายใดขอคามร่วมมือได้ก็ขอให้ตรึงราคาไปก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่จับตาเป็นพิเศษ และมีโอกาสปล่อยปรับราคาได้บ้าง คือ ปุ๋ย อาหารสัตว์ เหล็ก น้ำมันพืช สำหรับไข่ไก่ แม้สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ระบุว่าปรับราคาไข่ไก่คละอยู่ที่ 3.10 บาท/ฟอง แต่ยังเป็นราคาไม่ชนเพดานราคาไข่ไก่คละกำกับดูแลไว้ที่ 3.50 บาทต่อฟอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง