"ทำหมัน ประกันสังคม" ฟรี! เช็กสิทธิพร้อมเงื่อนไข รักษาแบบไหนที่คุ้มครอง
"ทำหมัน ประกันสังคม" แบบไหนที่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมคุ้มครองค่าใช้จ่ายได้ และต้องมีเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบอย่างไร รวมทั้ง แบบไหนที่ประกันสังคมไม่คุ้มครอง
สำนักงานประกันสังคม ตอบข้อสงสัยประเด็น "ทำหมันแบบไหนที่ประกันสังคมคุ้มครอง?" โดยระบุว่า ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิ "ทำหมันถาวร" เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ ได้ฟรี️ ที่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม เท่านั้น
เงื่อนไขการรับสิทธิ "ทำหมัน ประกันสังคม"
- ผู้ประกันตน มาตรา 33 และ มาตรา 39 เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันรับบริการทางการแพทย์
- ผู้ประกันตน มาตรา 38 และ มาตรา 41 เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันรับบริการทางการแพทย์และได้รับสิทธิคุ้มครองภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
เมื่อประสงค์ "ทำหมัน" จะได้รับความคุ้มครองจากประกันสังคม ดังนี้
กรณีทำหมันถาวร (เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์)
ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น จึงจะไม่เสียค่าใช้จ่าย หากประสงค์ไปใช้สิทธิโรงพยาบาลเครือข่าย ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของโรงพยาบาลเครือข่ายกับโรงพยาบาลตามสิทธิ หากไปทำหมันโรงพยาบาลอื่น จะไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้
ยกเว้น กรณีโรงพยาบาลตามสิทธิไม่สามารถทำหมันได้และส่งตัวผู้ประกันตนไปทำหมันโรงพยาบาลอื่นจะต้องมีหนังสือส่งตัวของโรงพยาบาลตามสิทธิยืนยันให้ผู้ประกันตนสามารถทำหมัน ณ โรงพยาบาลที่ระบุตามหนังสือส่งตัวโดยโรงพยาบาลตามสิทธิจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
ส่วน "กรณีการคุมกำเนิด" เช่น การฉีดยาคุมกำเนิด, การฝังยาคุมกำเนิด,ห่วงคุมกำเนิด และการแก้หมัน *** สำนักงานประกันสังคมไม่คุ้มครอง ***
หากสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคมได้ที่ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม
ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP