รีเซต

จับตา"เงินบาท" หลังแข็งค่าสุดรอบ 7 เดือน

จับตา"เงินบาท" หลังแข็งค่าสุดรอบ 7 เดือน
TNN ช่อง16
5 พฤษภาคม 2568 ( 09:20 )
13

เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง และแตะระดับแข็งค่าสุดรอบ 7 เดือนที่ 33.03 บาทต่อดอลลาร์ฯ ช่วงปลายสัปดาห์ (2 พ.ค. 2568)  แม้ว่าจะมีประเด็นที่ Moody’s ปรับมุมมองที่มีต่อแนวโน้มอันดับเครดิตไทยและสถาบันการเงิน 7 แห่ง เป็น “เชิงลบ” จาก “มีเสถียรภาพ” 

โดยเงินบาทมีแรงหนุนจากการแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคและเงินหยวนในตลาดออฟชอร์ หลังเริ่มมีสัญญาณเกี่ยวกับการเตรียมเจรจาเรื่องภาษีการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก   

สัปดาห์ระหว่างวันที่ 5-9 พ.ค. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.80-33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (6-7 พ.ค.) //การประชุม BOE (8 พ.ค.) //สถานการณ์ของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน //ราคาทองคำในตลาดโลก //ทิศทางเงินทุนต่างชาติ  รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ 


สำหรับการประชุมของเฟดวันที่ 6-7 พ.ค. นี้ ซึ่งเป็นรอบที่ 3 จากทั้งหมด 8 รอบในปีนี้  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ระดับร้อยละ 4.25-4.50 เพื่อรอดูผลกระทบจากมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

และคาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญจากผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นของการปรับขึ้นภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal tariffs) หลังการชะลอการปรับขึ้นภาษีฯ สิ้นสุดลง


ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 1ปี 2568 ที่ออกมาเบื้องต้นหดตัวที่ร้อยละ 0.3  (Annualized %QoQ, s.a.) สะท้อนความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical recession) ในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้ามีความรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ตลาดแรงงานมีความเสี่ยงที่จะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี จังหวะการปรับลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้ายังคงมีความไม่แน่นอนสูงและคงขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ออกมาประกอบกับการประเมินความเสี่ยงจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าในระยะข้างหน้าเป็นสำคัญ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง