รีเซต

มีลุ้นสหรัฐต่อจีเอสพี พณ.โชว์ไทยใช้สิทธิเอฟทีเอปี64พุ่ง31%สูงสุด6ปี และใช้สิทธิจีเอสพีก็โต 31%

มีลุ้นสหรัฐต่อจีเอสพี พณ.โชว์ไทยใช้สิทธิเอฟทีเอปี64พุ่ง31%สูงสุด6ปี และใช้สิทธิจีเอสพีก็โต 31%
มติชน
3 มีนาคม 2565 ( 12:46 )
40

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในปี 2564 มีมูลค่ารวม 76,312.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 31.40% เทียบปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิสูงถึง 78.17 % โดยเป็นการใช้สิทธิ เพิ่มขึ้นสูงในทุกตลาด ดังนี้ อาเซียน ขยายตัว 35.91% ออสเตรเลีย 21.28% ชิลี 72.66 % จีน 33.61 5% อินเดีย 48.17 ญี่ปุ่น 8.46% เกาหลีใต้ 38.30 % นิวซีแลนด์ 49.26% และ เปรู 143.17% สินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ ยานยนต์ ผลไม้ อาหารแช่แข็ง/อาหารปรุงแต่ง เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ ตู้เย็น และ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น โดยตลาดที่มีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ อันดับแรก อาเซียน อันดับแรกไป เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ อาทิ ยานยนต์สำหรับขนส่งของที่น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน รถยนต์สำหรับขนส่งบุคคล น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส เครื่องปรับอากาศ ผลไม้สด ฝรั่ง มะม่วง มังคุดสดหรือแห้ง เป็นต้น ตามด้วยจีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย จึงทำให้การใช้สิทธิปี 2564 ที่มีมูลค่า 76,312.79 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่ามีมูลค่าสูงสุดในรอบ 6 ปี นับจากปี 2558 สัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอ เทียบมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์เอฟทีเอ กับมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษในการลดภาษีภายใต้เอฟทีเอ 5 อันดับแรก คือ ไทย-เปรู อาเซียน-จีน ไทย-ชิลี ไทย-ญี่ปุ่น และ 5 อาเซียน-เกาหลี

 

นายพิทักษ์ กล่าวว่า ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ทั้ง 4 ระบบที่ไทยได้รับสิทธิพิเศษอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ปี 2564 มีมูลค่า 3,612.68 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.14% เทียบกับปี 2563 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 61.94% โดยไทยยังคงใช้สิทธิส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 31.65% และใช้สิทธิส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชเพิ่มขึ้น 25.27% ขณะที่การใช้สิทธิส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ลดลง 2.01% และ 16.12% ตามลำดับ


ทั้งนี้ การส่งออกของไทยขอใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกไปยังตลาดสหรัฐมากที่สุด สัดส่วน 91.82% ของการส่งออกโดยใช้สิทธิจีเอสพีทั้ง 4 ระบบของไทยในปี 2564 มีมูลค่าส่งออกโดยใช้สิทธิสูงถึง 3,317.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีสินค้าส่งออกสำคัญ คือ ถุงมือยาง ขยายตัวสูง 45.83% ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ ขยายตัวสูงถึง 44.27% กรดมะนาวหรือกรดซิทริก ขยายตัว 89.21% ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ขยายตัว 37.03% และหลอดหรือท่อทำด้วยทองแดงบริสุทธิ์ ขยายตัว202.45%

 

” สำหรับการต่ออายุโครงการจีเอสพี ของสหรัฐ ที่สิ้นสุดโครงการ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 นั้น ยังอยู่ระหว่างที่ทางรัฐสภาสหรัฐ พิจารณาผ่านร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่ออายุโครงการ โดยคาดว่าจะได้รับการผ่านความเห็นชอบในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ ในการต่ออายุโครงการจีเอสพีครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐฯ จะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการพิจารณาประเทศที่จะได้รับสิทธิจีเอสพี ให้สะท้อนกับประเด็นที่รัฐบาลสหรัฐ ให้ความสำคัญ อาทิ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านแรงงาน ด้านสิทธิสตรี เป็นต้น ให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ” นายพิทักษ์ กล่าว

 

นายพิทักษ์ กล่าวต่อว่า การขอใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการนำเข้าสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ปี 2564 มีมูลค่า44,871.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 25.63% ของมูลค่าการนำเข้าภายใต้เอฟทีเอ สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าสูง ได้แก่ เหล็ก จากญี่ปุ่น จีน เกาหลี ผักและผลไม้จากจีน อาเซียน โดย 3 ตลาดที่มีมูลค่าการนำเข้าใช้สิทธิเอฟทีเอสูงสุด ได้แก่ ตลาดจีน ในสินค้าเหล็ก สิ่งก่อสร้าง แอปเปิ้ล ล้อและส่วนประกอบ และหลอดหรือท่อ ทำด้วยทองแดง


ตลาดอาเซียน เช่น อาหารปรุงแต่ง ข้าวโพด มันสำปะหลัง เครื่องรับสำหรับโทรทัศน์ และลวดทำด้วยทองแดงบริสุทธิ์ เป็นต้น ตลาด ญี่ปุ่น เช่น เหล็กและตัวก่อปฏิกิริยา พวงมาลัย แกนพวงมาลัย และกระปุกเกียร์ เป็นต้น

 

นายพิทักษ์ กล่าวอีกว่า ปี 2564 กรมออกหนังสือสำคัญการส่งออก-นำเข้าสินค้า 1,172,027 ฉบับ มูลค่าการค้า 96,615.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.72 %จากปีก่อน ปัจจัยช่วยให้กรมสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องและไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ กรมได้นำนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก และลดขั้นตอน ลดระยะเวลา และลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการไทย ในส่วนของการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) กว่า 92 ของปริมาณการออกหนังสือสำคัญทั้งหมด กรมผลักดันการใช้ระบบการลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสะดวกและช่วยลดการใช้กระดาษไปได้กว่า 4.4 ล้านแผ่นต่อปี และช่วยลดการใช้งบประมาณรัฐกว่า 790,000 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง