รีเซต

เด็กไทยควรฉีดวัคซีนตัวไหนดี? “หมอเฉลิมชัย” รวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว

เด็กไทยควรฉีดวัคซีนตัวไหนดี? “หมอเฉลิมชัย” รวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว
TNN ช่อง16
9 กันยายน 2564 ( 11:45 )
50

ภาพโดย TNN Online

วันนี้( 9 ก.ย.64) นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19

โดยระบุว่า "ความรู้เรื่องCOVID-19 (ตอนที่ 871) 8 ก.ย. 2564

เด็กไทยควรฉีดวัคซีนโควิดตัวไหนดี ระหว่าง Sinovac Sinopharm Pfizer และ Moderna 

ในสถานการณ์โควิดกำลังเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก กินเวลากว่าหนึ่งปีเศษแล้วนั้น ในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นกลุ่มที่มีรายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการฉีดวัคซีนน้อยที่สุด เพราะนักวิจัยมักจะหลีกเลี่ยงการทดลองในอาสาสมัครเด็กเสมอ โดยจะเริ่มทำการทดลองในอาสาสมัครที่เป็นผู้ใหญ่ก่อน หลังจากนั้นก็จะขยับมาทำการทดลองในผู้สูงอายุ และจะเลือกทดลองในเด็กเป็นลำดับสุดท้าย เพราะเด็กเป็นวัยที่เปราะบาง ร่างกายยังไม่สมบูรณ์แข็งแรง และจิตใจก็ยังไม่เป็นผู้ใหญ่พอ

ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครอง มักจะไม่ยินยอมให้เด็กเข้าสู่การทดลองใดใดทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องการทดลองยาหรือวัคซีน

โดยในช่วงเริ่มต้น เราจะมีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนในอาสาสมัครอายุ 18-59 ปีเป็นหลัก แล้วจะเริ่มขยับไปทดลองในกลุ่มสูงอายุ ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

ส่วนการทดลองในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา ก็จะเป็นกลุ่มสุดท้าย และจะค่อยทดลองจากอายุมากขยับลงไปหาอายุน้อยที่สุดเป็นลำดับ

จนถึงปัจจุบัน ทุกวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติให้ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะกำหนดให้ฉีดในผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นของ Pfizer ที่ทดลองในเด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป

ต่อมาเริ่มมีการวิจัยการให้วัคซีนในผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปี และมีข้อสรุปดังนี้

1) ในเด็กและเยาวชนที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป สามารถฉีดวัคซีนของ Pfizer และ Moderna ได้ในประเทศที่ได้รับการอนุมัติให้ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

2) ในกลุ่มที่มีการทดลองยังไม่สมบูรณ์ และให้เริ่มฉีดได้เลย ได้แก่ 

2.1 ชิลี ให้ฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ขวบเป็นต้นไป 

2.2 คิวบา ให้ฉีดในเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไปได้

3) ในส่วนที่ทำการวิจัยทดลองยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังไม่อนุญาตให้ฉีดเป็นการทั่วไป  ได้แก่

3.1 วัคซีนของ Pfizer และ Moderna กำลังทดลองฉีดในอายุตั้งแต่ห้าขวบขึ้นไป 

3.2 วัคซีนของ Sinovac และ Sinopharm กำลังทดลองฉีดในเด็กอายุสามขวบขึ้นไป

สำหรับในประเทศไทย โดยคำแนะนำของสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ได้แนะนำ

1) ยังไม่ฉีดเป็นการทั่วไป ในเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีลงมา

2) เด็กอายุ 12-15 ปี ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงคือมีโรคประจำตัวที่อาจจะเป็นอันตราย ให้พิจารณาฉีดวัคซีนได้

ก็จะมาถึงปัญหาของคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองว่า ถ้าลูกตนเองอยู่ในกลุ่มที่จะฉีดวัคซีนได้แล้ว จะฉีดวัคซีนบริษัทไหนดี ด้วยเหตุผลว่าอะไร คงจะต้องพิจารณาจาก 3 มิติด้วยกัน

1) มิติผลข้างเคียง วัคซีนเทคโนโลยี mRNA เป็นเทคโนโลยีใหม่ ยังไม่เคยผลิตเป็นวัคซีนและฉีดให้เด็กและเยาวชนมาก่อนเลย และเริ่มพบมีปัญหากล้าม

เนื้อหัวใจอักเสบในเด็กและเยาวชนผู้ชายพอสมควร พบประมาณ 5 รายใน 1 ล้านโดส 

ส่วนวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย ได้เคยผลิตวัคซีน แล้วนำมาฉีดในเด็กและเยาวชนมาหลายสิบปีแล้ว จึงมีความสบายใจได้ในเรื่องผลข้างเคียง

2) มิติประสิทธิผล วัคซีนเทคโนโลยี m RNA มีประสิทธิผลสูงกว่าเทคโนโลยีเชื้อตาย

3) มิติการเจ็บป่วยจากโควิด พบว่าในเด็กและเยาวชน เมื่อติดโควิดแล้วจะไม่ค่อยแสดงอาการ ในรายที่แสดงอาการ ก็จะมีอาการไม่ค่อยรุนแรง และมีจำนวนป่วยหนักและเสียชีวิตค่อนข้างน้อย

โดย 3 มิติดังกล่าวข้างต้น คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองจึงต้องชั่งใจ ให้ครบถ้วนว่า จะฉีดวัคซีนให้บุตรหลานตนเองหรือไม่อย่างไรและจะฉีดด้วยวัคซีนอะไรดี

สำหรับในประเทศไทย อย.ได้จดทะเบียนให้วัคซีน Pfizer กับ Moderna สามารถฉีดในอายุ 12 ปีขึ้นไปได้

ส่วนวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย Sinopharm ได้ยื่นขอจดทะเบียนฉีดในเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไปแล้ว กำลังรอผลการพิจารณา

ส่วนวัคซีน Sinovac จะยื่นขอจดทะเบียนในเร็ววันนี้ สำหรับฉีดในเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป"


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง