รีเซต

หมอธีระ อัปเดต"โควิด" หลังติดเชื้อคุณภาพชีวิตแย่ลงแม้ผ่านไป 12 เดือน

หมอธีระ อัปเดต"โควิด" หลังติดเชื้อคุณภาพชีวิตแย่ลงแม้ผ่านไป 12 เดือน
TNN ช่อง16
14 มิถุนายน 2565 ( 07:35 )
98
หมอธีระ อัปเดต"โควิด" หลังติดเชื้อคุณภาพชีวิตแย่ลงแม้ผ่านไป 12 เดือน

วันนี้( 14 มิ.ย.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat 

โดยระบุว่า "14 มิถุนายน 2565...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 296,353 คน ตายเพิ่ม 629 คน รวมแล้วติดไป 540,863,605 คน เสียชีวิตรวม 6,332,139 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ไต้หวัน บราซิล เยอรมัน เกาหลีเหนือ และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 65.26 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 66.93

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 41.84 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 27.66

...สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยคิดเป็น 8.62% ของทวีปเอเชีย หากปรับตามคาดประมาณสัดส่วนของคนที่มีโรคร่วมเหมือน UK จะเป็น 12.15%

...อัปเดตความรู้โควิด-19

1. "ชิ้นส่วนโปรตีน ORF6 และ ORF10 จากไวรัสโรคโควิด-19 อาจมีส่วนทำให้เกิดปัญหาต่อระบบประสาทระยะยาว"

Charnley M และคณะวิจัยจากประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับสากล Nature Communications เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

ชี้ให้เห็นว่า ชิ้นส่วนโปรตีน ORF6 และ ORF10 จากไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 นั้นจะมาจับตัวกันจนเกิดสาร Amyloid ซึ่งเป็นพิษต่อเซลล์ของระบบประสาท 

โดยกลไกข้างต้นอาจเป็นหนึ่งในคำอธิบายปรากฏการณ์ที่พบความผิดปกติทางระบบประสาทในผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นช่วงแรกของการติดเชื้อ หรือแม้แต่ที่เคยติดเชื้อมาก่อนและประสบปัญหา Long COVID ก็ตาม

2. "การติดเชื้อโรคโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการอักเสบและการทำงานผิดปกติของเซลล์สมอง"

Fernández-Castañeda A และคณะวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับสากล Cell เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2565 

ชี้ให้เห็นว่า จากการวิจัยในหนู การติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 แม้จะมีอาการน้อย แต่พบว่าทำให้เกิดกระบวนการอักเสบต่อเนื่องในระบบประสาท และมีการทำงานของเซลล์สมองในส่วนต่างๆ ที่ผิดปกติไปมาก แตกต่างจากการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจอื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ที่จะพบความผิดปกติน้อยและเป็นเฉพาะบางที่

สอดคล้องกับงานวิจัยอื่นก่อนหน้านี้ที่มีการตรวจในผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อนแล้วมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทด้านความคิดความจำ โดยพบสารที่บ่งชี้ถึงกระบวนการอักเสบมากในน้ำไขสันหลัง 

งานวิจัยนี้จึงสะท้อนให้เห็นผลกระทบจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 ว่าจะส่งผลต่อระบบประสาทได้อย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่อาการผิดปกติตามมา

3. "หลังติดเชื้อจะเหนื่อยล้า/อ่อนเพลีย และคุณภาพชีวิตแย่ลง แม้ผ่านไปนานถึง 12 เดือน"

Noujaim PJ และทีมวิจัยจากประเทศฝรั่งเศส เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารทางการแพทย์ระดับสากล BMC Infectious Diseases ฉบับวันที่ 13 มิถุนายน 2565

ติดตามผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 120 คน ไปนาน 12 เดือน และประเมินภาวะเหนื่อยล้า/อ่อนเพลีย และคุณภาพชีวิตทั้งทางกายและจิตใจ ด้วยแบบประเมินมาตรฐานหลายชุด ผลการศึกษายืนยันว่า กลุ่มผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 ไปแล้ว จะมีภาวะเหนื่อยล้า/อ่อนเพลียมากกว่า และมีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรทั่วไปแม้จะประเมินหลังติดเชื้อมานานถึง 12 เดือน 

...จากความรู้ต่างๆ ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง เน้นย้ำว่า ควรป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ยิ่งในสถานการณ์ที่เห็นภาพไม่ชัดเพราะเลนส์มัว คงต้องมองรอบตัวในระยะใกล้ด้วยสายตาตนเอง และประเมินสถานการณ์ ประเมินความเสี่ยง เพื่อตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม ไม่ประมาท ใช้ความรู้เป็นไฟส่องทาง ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก

อ้างอิง

1. Charnley, M., Islam, S., Bindra, G.K. et al. Neurotoxic amyloidogenic peptides in the proteome of SARS-COV2: potential implications for neurological symptoms in COVID-19. Nat Commun. 13 June 2022.

2. Fernández-Castañeda A et al. Mild respiratory COVID can cause multi-lineage neural cell and myelin dysregulation. Cell. 12 June 2022.

3. Noujaim, PJ., Jolly, D., Coutureau, C. et al. Fatigue and quality-of-life in the year following SARS-Cov2 infection. BMC Infect Dis. 13 June 2022."





ข้อมูลจาก Thira Woratanarat

ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง