รีเซต

รถ EV แบตเตอรี่ “Solid-State” ของ “โตโยต้า” คือม้ามืดแซง EV ทุกเจ้าหรือไม่ ?

รถ EV แบตเตอรี่ “Solid-State” ของ “โตโยต้า” คือม้ามืดแซง EV ทุกเจ้าหรือไม่ ?
TNN ช่อง16
22 ตุลาคม 2566 ( 10:16 )
8K

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าโตโยต้า (Toyota) กำลังตามตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือ EV ไม่ทัน แต่ทางบริษัทยังคงผลักดันรถยนต์แบบไฮบริดอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดก็เดินหน้าพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่แบบโซลิด-สเตท (Solid-state) แทนแบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออน (Lithium-ion) ด้วยจุดเด่นสำคัญคือการชาร์จที่รวดเร็วไม่เกิน 10 นาที แต่มีระยะทางวิ่งได้ถึงหลักพันกิโลเมตร 


คำถามคือ เกมรุกครั้งนี้ของโตโยต้าเป็นการข้ามเหล่าผู้ผลิตรถ EV ทั่วโลกไปข้างหน้า หรือว่าเป็นเพียงการแก้เกมโดยโฆษณาคำโตแบบที่บางฝ่ายออกมาวิจารณ์


จุดเริ่มต้นแบตเตอรี่แบบ Solid-state

แบตเตอรี่โซลิด-สเตท ค้นพบโดยไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday) ในช่วงปี 1831-1834 ว่าซิลเวอร์ ซัลไฟด์ (Silver sulfide) หรือสารประกอบระหว่างแร่เงินและซัลเฟอร์ และลีด ฟลูออไรด์ (Lead (II) Fluoride) ที่เป็นสารประกอบระหว่างตะกั่วกับฟลูออรีน สามารถสร้างสารอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) หรือสารที่ละลายน้ำแล้วให้ประจุไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องอยู่ในรูปของเจลแบบลิเทียม ไอออน แต่เป็นรูปแบบของแข็งแทน


แต่การพัฒนาให้เริ่มใช้งานเชิงพาณิชย์ได้นั้นเกิดขึ้นในปี 2011 นำโดยบอลลอร์ (Bolloré) บริษัทขนส่งชื่อดังของฝรั่งเศสในปี 2011 แล้วจึงตามมาด้วยโตโยต้า (Toyota) ในการพัฒนาแบตเตอรี่โซลิด-สเตทจากสารลิเทียมซัลไฟด์ (Lithium sulfide) และโฟล์คสวาเกน (Volkswagen) ในปี 2012 ส่วนฮอนด้า (Honda) นิสสัน (Nissan) บีเอ็มดับเบิลยู (BMW) ฮุนได (Hyundai) เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในช่วงปี 2017-2018


กระแสรถยนต์ไฟฟ้าเปลี่ยนทิศทางการพัฒนา EV ของค่ายรถ

อย่างไรก็ตาม กระแสรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทั้งไฮบริดและแบตเตอรี่ (BEV) ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากการมาของเทสลา (Tesla) ในปี 2008 ทำให้ค่ายรถบางส่วน เช่น BMW, Mercedess-Benz รวมถึง Hyundai หันไปพัฒนารถยนต์ EV ที่ใช้แบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออนแทน 


สาเหตุเป็นเพราะต้องแข่งขันกับค่ายรถ EV หน้าใหม่จากทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และโดยเฉพาะจีนที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด จนได้ค่ายใหญ่หน้าใหม่อย่างเช่น บีวายดี (BYD) เอสเอไอซี (SAIC) เกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor: GWM) ในกระแสรถยนต์โลก ซึ่งทำให้โตโยต้าต้องปรับแผนการตลาดครั้งใหญ่ เพื่อไม่ให้ค่ายรถตัวเองกลายเป็นเพียงฉากหลังในตลาดเกิดใหม่นี้


ในช่วงปลายปี 2021 โตโยต้า ตัดสินใจประกาศว่าจะเดินหน้าพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่โซลิด-สเตทแทนในอนาคต หลังการเปิดตัวบีซีโฟร์เอกซ์ (bZ4X - Beyond Zero 4 wheel) ได้ไม่กี่เดือน ซึ่งข่าวครั้งนั้นก็สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหลายด้าน โดยมีความเห็นบางส่วนจากอิเล็กเทร็ก (Electrek) สำนักข่าวด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้าชื่อดัง มองว่าเป็นเรื่องของการตลาดที่ขาดความน่าเชื่อถือเท่านั้น บางรายมองว่าเป็นการแก้สถานการณ์จากการถูกตีตราว่าเป็น "ผู้ปฏิเสธรถ EV" รายใหญ่ที่สุดในโลกด้วย แม้ภายหลังจะมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์แล้วก็ตาม

โตโยต้า จริงจังกับคำว่า “Solid-state” 

แต่เหมือนโชคจะไม่เข้าข้างโตโยต้า เพราะว่าบีซีโฟร์เอกซ์ (bZ4X) รถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นแรกที่เริ่มวางขายในปี 2023 นี้  กลับพบรายงานปัญหาโครงสร้างจนต้องเรียกคืนรถยนต์ที่ขายไปแล้วกว่า 2,700 คันกลับมาแก้ไข ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของโตโยต้าเป็นอย่างมาก


อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา โตโยต้าได้ประกาศแผนเดินพัฒนารถยนต์คันใหม่ที่ชูการใช้แบตเตอรี่แบบโซลิด-สเตท พร้อมความสามารถชาร์จพลังงานไฟฟ้าเพียง 10 นาที แต่สามารถทำให้รถวิ่งไกลได้ถึง 1,200 กิโลเมตร ซึ่งจะวางขายจริงในปี 2027 นี้ โดย “คาดการณ์” ว่าจะลดต้นทุนการผลิตลงได้ร้อยละ 37 และสูงถึงร้อยละ 50 หากมียอดสั่งจองถึง 2 แสนคัน ในปี 2030 


ดังนั้น จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นไปได้และความน่าไว้วางใจทั้งในไทยและทั่วโลก ทั้งในโลกโซเชียลมีเดียและกูรูในวงการ ตลอดจนสื่อที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ได้รับความสนใจจากทั่วโลกในเวลาเดียวกัน จากความสามารถที่ทำลายขีดจำกัดของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในปัจจุบันหากเกิดขึ้นได้จริง


ล่าสุดเมื่อ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา โตโยต้าได้จับมืออิเดมิตสุ (Idemitsu) บริษัทปิโตรเลียมชื่อดังมาเป็นพันธมิตรเตรียมเดินสายพานผลิตแบตเตอรี่โซลิด-สเตทให้ใช้ได้จริงในการผลิต (Mass production) ตามแผนการที่ประกาศไว้ว่าจะผลิตรถแบตเตอรี่โซลิด-สเตทขายจริงปี 2027 นี้ โดยถือว่านี่คือการก้าวข้ามครั้งสำคัญของบริษัท หลังจากเคยผลักดันเทคโนโลยีรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ

จับตาอีก 4 ปี “Solid-state” คือของดีจริงหรือแค่คำโฆษณา

หัวใจของแบตเตอรี่แบบโซลิด-สเตท คือสารอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) หรือสารที่ละลายน้ำแล้วให้ประจุไฟฟ้าในรูปแบบของแข็ง ซึ่งการก้าวเข้ามาของอิเดมิตสุ (Idemitsu) จะหาวิธีทำให้สารอิเล็กโทรไลต์มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าอิเล็กโทรไลต์แบบเจลของลิเทียมไอออน ซึ่งหากสำเร็จจริงจะทำให้รถ EV มีราคาที่ถูกลงและประสิทธิภาพสูงขึ้น นับเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีครั้งสำคัญของโลกที่นำโดยโตโยต้าตามกล่าวอ้างเอาไว้


แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ TNN Tech มองว่า ผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนระดับโลก ทั้ง ซีเอทีแอล (CATL), บีวายดี (BYD) ,แอลจี (LG), พานาโซนิก (Panasonic) ก็มีเวลามากพอในการพัฒนาศักยภาพการชาร์จและความจุของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนด้วยเช่นกัน สุดท้ายแล้ว ในปี 2027 นี้ จะเป็นปีที่ให้คำตอบได้ว่า แบตเตอรี่โซลิด-สเตทที่โตโยต้าถือนำหน้าในตลาดรถ EV นั้นคือสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่



ที่มาข้อมูล Reuters, Clean TechnicaTopspeedCNBCEngadgetWikipedia

ที่มารูปภาพ Toyota

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง