รู้จัก! สีของดาวตก สีที่เห็นบอกอะไรกันนะ?
สีดาวตกเชียงใหม่ ปรากฎการณ์ที่สร้างความตื่นเต้นและเป็นที่พูดถึงอย่างมากในสื่อสังคมโซเชียล เมื่อมีผู้พบเห็นแสงสว่างบนท้องฟ้าและมีเสียงดังสนั่น!! ในหลายพื้นที่ภาคเหนือของไทย ช่วงเย็นของวันที่ 22 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมา ซึ่งแสงสว่างมีลักษณะสีฟ้าอมเขียว พุ่งจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก โดยเบื้องต้นคาดว่าเป็น ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide)
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าว เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ระบุถึงสีของดาวตกได้อย่างน่าสนใจว่า ดาวตก เกิดจากเศษหินและฝุ่นของดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย พุ่งเข้ามาชนกับชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่าง ๆ เราจึงมองเห็นสีของดาวตกปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยได้แก่
- องค์ประกอบทางเคมี
- โมเลกุลของอากาศโดยรอบ
ซึ่งชนกับตัวดาวตกอย่างรุนแรงจนเกิดความร้อนสูง แสงที่เปล่งออกมาจากอะตอมโลหะของดาวตก จะแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบทางเคมี เช่น
- อะตอมแคลเซียม ( Ca ) ให้แสงสีออกโทนม่วง
- อะตอมแมกนีเซียม ( Mg ) ให้แสงสีฟ้าเขียว
- อะตอมโซเดียม ( Na ) ให้แสงสีส้มเหลือง
- อะตอมเหล็ก ( Fe ) ให้แสงสีเหลือง
- ในขณะที่โมเลกุลในชั้นบรรยากาศโลก จะมีอะตอมของออกซิเจน ( O ) และไนโตรเจน ( N ) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งจะให้แสงสีแดง
ดังนั้น สีของดาวตกจึงขึ้นอยู่กับการเปล่งแสงขององค์ประกอบแต่ละชนิด และการเปล่งแสงของอากาศโดยรอบตัวดาวตกที่ร้อนจัด ซึ่งจะให้แสงสีแดงและสีเขียวเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับความสูงจากพื้นโลกนั้นเองครับ
ข่าวเกี่ยวข้อง :