โควิด-Monitoring List ขวางส่งออกฟื้น
เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างส่งออกเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขในเดือนพ.ย.พบว่า มูลค่าส่งออกแตะที่ 18,932.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3.65% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวที่ลดลงเมื่อเทียบจากเดือนต.ค.ที่ผ่านมามีมูลค่า 19,376.68 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 6.71% ผลพวงจากเศรษฐกิจโลกมีทิศทางการพื้นตัวดีขึ้น เห็นได้จากจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และทำสถิติสูงสุดในรอบ 24 เดือน
สอดคล้องกับหลายองค์กรระหว่างประเทศที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อของคู่ค้า ส่งผลให้สินค้าส่งออกในเดือนพ.ย.นี้ปรับตัวดีขึ้นหลายรายการ ผนวกกับข่าวดีความคืบหน้าในการผลิตและกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิต และการบริโภค โดยการส่งออกไทยมีภาวะการหดตัวน้อยลง ทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรการส่งออกในหลายกลุ่มสินค้าดีขึ้น ขณะที่ไทยได้คลอดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศก็ช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้หดตัวไปมากกว่านี้
หากส่องดูตลาดส่งออกสำคัญ ตลาดสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่หลายตลาดกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกอีกครั้ง โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย แต่ตลาดอาเซียนและตะวันออกกลางที่ยอดส่งออกหดตัว ส่วนการค้าชายแดนของไทย โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ยังได้รับผลกระทบจากการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือนต.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้สิ่งที่น่าห่วงยังเป็นเรื่องปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดปัจจุบันหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จึงทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดอีกครั้งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจากที่กำลังฟื้นอาจฟุบก็เป็นได้ ส่วนในประเทศมีหลายพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิดหากลุกลามบานปลายอาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและกระทบต่อการส่งออกอาหารทะเลในอนาคต และถ้าเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเหตุการณ์ยืดเยื้อกินเวลานานหลายเดือนอาจกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลียงไม่ได้
แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์ยังคาดหวังว่า การส่งออกไทยเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของปีนี้หากทำได้ถึง 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐ จะหนุนให้ตัวเลขส่งออกไทยทั้งปีหดตัว 6.6% แต่ถ้ายอดส่งออกทะลุทะลวง 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้การส่งออกไทยทั้งปีหดตัวเพียง 6.45% ซึ่งต่ำกว่าเป้าปีนี้ที่ตั้งไว้ว่าจะหดตัว 7%แต่จะได้หรือไม่ต้องลุ้นกันอีกที
ถ้าจะมองถึงส่งออกปีหน้าคงหลีกเลี่่ยงไม่ได้ว่า ต้องเผชิญปัจจัยรุมเร้ารอบทิศ โดยเฉพาะการระบาดหนักของโควิดในสหรัฐฯและยุโรปที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แบบไม่มีท่าทีว่าเบาบางลง แม้ว่าจะมีความหวังการพัฒนาวัคซีน ผนวกกับข่าวร้ายไทยถูกสหรัฐขึ้นบัญชี Monitoring List เนื่องจากดุลการค้าเกินดุลระดับสูง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่า2% ของจีดีพี และทุนสำรองทางการเพิ่มขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้หากไทยอยู่ในโหมดดูแลค่าเงินบาท ด้วยการเข้าซื้อดอลลาร์เข้ามาเติมทุนสำรองระหว่างประเทศเหมือนเดิม ดุลการค้ายังเกินดุลต่อเนื่อง อาจทำให้ไทยเสี่ยงถูกกล่าวหาแทรกแซงค่าเงินบาทเหมือนเวียดนามและสวิตเซอร์แลนด์และนำไปสู่การขึ้นกำแพงภาษี หรือลดโควต้าการนำเข้าสินค้าจากไทยในอนาคต ความหวังส่งออกช่วยค้ำยันเศรษฐกิจคงเป็นไปได้ยาก
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE