หมอยง เผย 8 ข้อทำไม"โควิดเป็นโรคประจำฤดูกาล" จะระบาดมากช่วงไหน?
วันนี้( 2 ต.ค.65) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Yong Poovorawan"
โดยระบุว่า "โควิด 19 เป็นโรคประจำฤดูกาล หรือโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ยง ภู่วรวรรณ 2 ตุลาคม 2565
เมื่อ covid 19 เป็นโรคประจำฤดูกาลหรือโรคที่ต้องเฝ้าระวัง เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ หรือโรคทางเดินหายใจอื่นๆอีกหลายรอบทั้งนี้เพราะ
1. ประชากรส่วนใหญ่มีการติดเชื้อไปแล้ว น่าจะถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ร่วมกับการได้รับวัคซีนเป็นบางส่วน เมื่อรวมผลภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากการได้รับวัคซีนและการติดเชื้อ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ ทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง
2. ประชากรที่ได้รับวัคซีน ไม่ว่าจะได้กี่เข็ม ก็สามารถติดเชื้อได้ แต่ความรุนแรงลดลง เป็นที่ยอมรับได้ ต่อไปเราจะมุ่งเน้น เรื่องของการกระตุ้นด้วยวัคซีน เฉพาะในกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่
3. การระบาดของโรคนี้ จะอยู่ในรูปแบบของโรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาล จะระบาดมากในฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกันยายน แล้วก็จะลดลงเป็นประจำทุกปี และจะไประบาดเพิ่มอีกครั้งหนึ่งแต่ไม่สูงมาก ในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม แล้วจะเป็นวงจรเช่นนี้ทุกปี การลดลงของโรคตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม เป็นเหตุปัจจัยปกติของโรคประจำฤดูกาล ทุกปีอยู่แล้ว เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่
4. การให้วัคซีนในอนาคต ไม่มีวัคซีนไหนเป็นวัคซีนเทพ อย่างที่เคยเรียกร้อง วัคซีนทุกตัวไม่ต่างกันเลย และวัคซีนที่ควรให้ ควรให้ก่อนฤดูฝน เพื่อป้องกันการเพิ่มขึ้นในฤดูฝน และกลุ่มเสี่ยง เป็นกลุ่มแรกที่ควรจะได้รับวัคซีนเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ วัคซีนในอนาคตไม่ว่าจะเป็น 2 สายพันธุ์หรือ 3 สายพันธุ์ ก็เป็นเพียงแค่ลดความรุนแรงของโรคเท่านั้น ไม่ได้หวังเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
5. ในผู้ที่ติดเชื้อและเป็นกลุ่มเสี่ยง ควรได้ยาต้านไวรัสให้เร็วที่สุดทันที ที่ตรวจเอทีเคเป็น 2 ขีด ถ้าให้เร็วจะลดระยะ เวลาการดำเนินโรคลงได้ 3 วัน
6. ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้ว มีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ และในอนาคตเมื่อประชากรส่วนใหญ่มีพื้นฐานภูมิต้านทาน ความรุนแรงของโรคในกลุ่มที่มีร่างกายแข็งแรงปกติ จะน้อยลง เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่
7. ในอนาคต ที่แย่งกันจองวัคซีนจากต่างประเทศ จะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว เพราะไม่มีวัคซีนไหนเป็นวัคซีนเทพ ซึ่งขณะนี้วัคซีนที่อยู่ในประเทศไทย ก็มีเหลือเป็นจำนวนมากมาย และในที่สุดก็จะต้องหมดอายุไปตามกาลเวลา โรงงานวัคซีนหลายแห่งลดการผลิต บางแห่งก็ปิดไปก็มี
8. การปฏิบัติตนให้แข็งแรง ป้องกันโรค ลดการแพร่กระจายโรค อย่างที่เรารู้ จะช่วยลดการระบาดของโรคลง แต่ไม่สามารถที่จะทำให้รู้โรคหมดไป และเราจะต้องอยู่ด้วยกัน ด้วยความจริง และเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเรื่อยๆ คนส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทาน ยาที่ใช้รักษาก็จะดีขึ้น โควิด 19 จะเป็นโรคทางเดินหายใจโรคหนึ่ง"
ที่มา Yong Poovorawan
ภาพจาก สธ./รอยเตอร์/AFP