EV รักษ์โลกจริงหรือ ? สวีเดนวิจัยเปรียบเทียบเครื่องบินใช้ไฟฟ้า VS ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชาลเมอร์สประเทศสวีเดน ได้ศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอากาศยานบินที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยศึกษาจากอากาศยานบินไฟฟ้า 2 ที่นั่งที่ชื่อ พิพิสเทรล อัลฟ่า อิเล็กโทร (Pipistrel Alpha Electro) เปรียบเทียบกับอากาศยานบินที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีขนาดและระบบการทำงานใกล้เคียงกัน
การศึกษาพบว่า ทุกครั้งที่มีการผลิตอากาศยานบินไฟฟ้าขึ้นมาใหม่ ในระยะแรกจะส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศค่อนข้างสูง เหตุผลสำคัญก็คือ การผลิตแบตเตอรี่สำหรับอากาศยานบินไฟฟ้านั้นใช้พลังงานและทรัพยากรจำนวนมาก แต่หลังจากการใช้งานไป 1,000 ชั่วโมง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 25% ของอายุการใช้งานที่คาดการณ์ไว้ อากาศยานบินไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศน้อยกว่าอากาศยานบินที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เนื่องจากในระหว่างการใช้งาน มันไม่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเลย
และเมื่อพิจารณาตลอดอายุการใช้งาน อากาศยานบินไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ น้อยกว่าอากาศยานบินที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 60% แต่มันก็มีความท้าทายอื่น ๆ เข้ามา ก็คือเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรแร่หรือโลหะหนักในแบตเตอรี่ ที่มีการคาดการณ์ว่าจะขาดแคลนมากถึง 50%
นักวิจัยยังได้เน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลดผลกระทบต่อวงจรชีวิตของอากาศยานบินไฟฟ้า ก็คือการพัฒนาวิธีการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน หากมีความก้าวหน้าด้านการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมของอากาศยานบินไฟฟ้าได้ดีขึ้นตามมาเช่นกัน
นี่นับเป็นการศึกษาที่สำคัญ เพราะอุตสาหกรรมการบินปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกประมาณ 2% และส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมดประมาณ 4% ในแต่ละปี การศึกษานี้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่าเกี่ยวกับประโยชน์ด้านสภาพภูมิอากาศที่อาจเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรีเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
งานวิจัยดังกล่าว ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่เกี่ยวข้องกับการประเมินวัฏจักรชีวิต (LCA) อย่าง International Journal of Life Cycle Assessment เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา
ที่มาข้อมูล InterestingEngineering
ที่มารูปภาพ Eurekalert