รีเซต

ทะเลทรายซาฮารามีดวงตามหึมา ? รู้จักโครงสร้างริชาต คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่าง

ทะเลทรายซาฮารามีดวงตามหึมา ? รู้จักโครงสร้างริชาต คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่าง
TNN ช่อง16
24 กันยายน 2567 ( 10:09 )
27
ทะเลทรายซาฮารามีดวงตามหึมา ? รู้จักโครงสร้างริชาต คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่าง

ทะเลทรายซาฮาราเป็นทะเลทรายที่มีขนาดใหญ่มาก มีพื้นที่ประมาณ 9 ล้านตารางกิโลเมตร ดังนั้นมันจึงมีสิ่งที่น่าสนใจหลากหลายอย่างซุกซ่อนอยู่ หนึ่งในนั้นคือโครงสร้างทางธรรมชาติที่นักวิทยาศาสตร์และนักผจญภัยสนใจมาเนิ่นนานหลายศตวรรษ รู้จักกันในชื่อ "โครงสร้างริชาต (Richat Structure)" ที่มีลักษณะเป็นวงกลมขนาดใหญ่ จึงมีอีกชื่อหนึ่งที่เรียกกันโดยทั่วไปคือ "ดวงตาแห่งซาฮารา (Eye of the Sahara)" แต่คำถามคือโครงสร้างดังกล่าวนี้คืออะไร และหลักการทางวิทยาศาสตร์ อธิบายโครงสร้างนี้ว่าอย่างไรกันแน่?


ภาพถ่ายจากนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ภาพจาก NASAโครงสร้างริชาต ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแอ่งเทาเดนี (Taoudeni Basin) ในตอนกลางของที่ราบสูงอาดราร์ (Adrar plateaus) ประเทศมอริเตเนีย (Mauritania) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลทรายซาฮารา โครงสร้างริชาตมีลักษณะเป็นวงกลมขนาดใหญ่ มีวงแหวนล้อมรอบ 3 วง มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 40 กิโลเมตร และเมื่อมองจากมุมสูงมันจะเหมือนเป้ายิงที่ตั้งอยู่กลางทะเลทราย 


ภาพแสดงที่ตั้งของโครงสร้างริชาต ภาพจาก IUGS | International Commission on Geoheritage


ในอดีตนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าโครงสร้างริชาต เกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาต เนื่องจากปกติแล้วเมื่ออุกกาบาตพุ่งชนพื้นโลก ก็มักจะสร้างวงกลมขนาดใหญ่ในลักษณะนี้ แต่อย่างไรก็ตามการวิจัยในยุคต่อ ๆ มาได้ผยว่ามันไม่ได้เกิดจากอุกกาบาต แต่เป็นโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า โดมแอนติไคลน์ (Domed Anticline) ซึ่งเป็นโครงสร้างทางธรณีวิทยาแบบหนึ่ง ที่หินถูกยกขึ้นมาโดยแรงธรรมชาติ ชั้นหินจะโค้งงอขึ้นด้านบนเป็นรูปทรงนูน ทำให้เกิดโครงสร้างคล้ายโดม


ภาพจาก IUGS | International Commission on Geoheritage

เมื่อเวลาผ่านไปนับร้อยล้านปี หินจะถูกกัดเซาะ แต่เนื่องจากมีหินหลายประเภท จึงถูกกัดเซาะด้วยอัตราที่แตกต่างต่างกัน ทำให้เกิดการก่อตัวเป็นสันเขาทรงกลม เรียกว่า คูเอสตา (Cuestas) และสีที่แตกต่างกันเกิดจากหินที่แตกต่างกัน 


โครงสร้างริชาตถือเป็นลักษณะทางธรณีวิทยาที่สวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนั้นโครงสร้างริชาตยังมีความสำคัญทางโบราณคดีอีกด้วย โดยมีการค้นพบหลักฐานของกิจกรรมของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ เช่น เครื่องมือของวัฒนธรรมอะชูเลียน (Acheulean) ที่มีอายุกว่า 2 ล้านปี ซึ่งเกี่ยวข้องกับมนุษย์สายพันธุ์โฮโมอิเรคตัส (Homo erectus) และโฮโมไฮเดลเบอร์เกนซิส (Homo heidelbergensis) การค้นพบกระจายตัวของเครื่องมือเหล่านี้สะท้อนถึงสภาพภูมิอากาศโบราณที่เปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งระหว่างยุคชุ่มชื้นและแห้งแล้งของทะเลทรายซาฮารา 


นับว่าโครงสร้างริชาตถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างอันงดงามที่ศิลปินอย่างโลกสร้างสรรค์ขึ้น และเป็นอีกหนึ่งหลักฐานว่าโลกเรากว้างใหญ่และเต็มไปด้วยสิ่งมหัศจรรย์มากมาย


ที่มาข้อมูล Earthobservatory.NASAGeographical, Iugs-geoheritage

ที่มารูปภาพ Earthobservatory.NASA

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง