กรมการแพทย์ ลดวันรักษาผู้ติดเชื้อโควิดไม่มีอาการ-อาการน้อย เหลือ 10 วัน
วันนี้ (3 พ.ย.64) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยกับ "ทีมข่าว TNN ช่อง 16" ถึงการปรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ฉบับล่าสุด ที่มีการระบุในการลดวันการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เหลือ 10 วัน ว่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้มีการเก็บข้อมูลศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยโควิด
โดยได้มีการตรวจหาเชื้อใน 3 ช่วงเวลา คือวันที่ 5 วันที่ 7 และวันที่ 10 และได้นำไปเพาะเชื้อ พบว่า หลังวันที่ 10 ไม่พบเชื้อ จึงได้ออกเป็นแนวทางการปรับลดระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาล
เบื้องต้นต้องเป็นคนที่ไม่มีอาการ ตั้งแต่ตรวจพบเชื้อรวม 10 วัน สามารถให้ออกจากโรงพยาบาลได้ โดยไม่ต้องกักตัวต่อที่บ้าน ถ้ามีอาการไม่มาก เช่น ตรวจพบเชื้อ 2-3 วันถึงมีอาการให้นับจากวันที่มีอาการ 10 วัน
แต่ถ้ามีอาการยังคงต้องรักษาเหมือนเดิม เช่น กรณีที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ หรือใช้ออกซิเจน ยังคงต้องรักษา 14 วันเหมือนเดิม เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการนาน
สำหรับจังหวัดที่มีปัญหาบริหารเตียง อาจให้อยู่ในโรงพยาบาล 5-7 วัน และกลับไปกักตัวต่อที่บ้านจนครบ 10 วัน ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะสามารถช่วยในการบริหารจัดการเตียง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดและต้องการใช้เตียงในการรักษาผู้ป่วยรายอื่นๆ ได้
ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องทำการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR หรือ Antigen Test Kit หรือการตรวจแอนติบอดี้ในผู้ป่วยที่ยืนยันแล้วว่า มีการติดเชื้อ และเมื่อจะกลับบ้านไม่ต้องตรวจซ้ำเช่นเดียวกัน
ภาพจาก TNN ช่อง 16
นพ.สมศักดิ์ เน้นย้ำผู้ที่ออกจากโรงพยาบาลให้ปฏิบัติตามแนววิถีชีวิตใหม่ คือ การสวมหน้ากากอนามัยฯ การรักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ภายใต้มาตรการสาธารณสุข โดยสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ
สำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งหายจากโควิดในระยะไม่เกิน 3 เดือน มีโอกาสติดเชื้อซ้ำน้อยมาก การตรวจหาเชื้อทั้งวิธี RT-PCR หรือ Antigen Test Kit หรือการตรวจแอนติบอดี้จึงมีประโยชน์น้อย แต่หากมีประวัติการสัมผัสโรคและมีอาการเข้าข่ายเกณฑ์ ให้พิจารณาการตรวจเชื้อเป็นรายบุคคล
ส่วนความคืบหน้า "ยาโมลนูพิราเวียร์" นั้น นพ.สมศักดิ์ ระบุว่า ได้ทำเรื่องขอไปในส่วนงบกลางซึ่งรวมค่ายาค่าเสี่ยงภัยอื่นๆ โดยสำนักงบประมาณอยู่ระหว่างการพิจารณาแต่ยังไม่ได้อนุมัติกรอบวงเงิน ยืนยันไม่มีปัญหาเพียงแต่อยู่ขั้นตอนทางระบบราชการ
หากสำนักงบประมาณพิจารณาแล้วเสร็จ ก็จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้เลย แต่หากยังไม่เสร็จอาจจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารหน้า เบื้องต้นจำนวน 50,000 คอร์ส 2 ล้านเม็ด โดยยาจะถึงไทยอย่างเร็วในเดือนมกราคม 2565
ทั้งนี้ อนาคตหากมีช่องทางในการซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ที่ถูกลง ไทยก็อยากที่จะซื้อในราคาถูก ตามหลักการก็ไม่ได้อยากซื้อในราคาที่แพง แต่ตอนนี้จำเป็นที่ต้องเร่งจัดซื้อนำมารักษาในผู้ป่วยโควิดที่ถือว่าสำคัญกว่า จึงต้องจัดซื้อเพื่อมาสำรองไว้ในการรักษา
ภาพจาก AFP
สำหรับการให้ยาโมลนูพิเวียร์จะให้กับผู้ป่วยที่อาการไม่มากถึงอาการปานกลางโดยต้องให้เร็วที่สุด เมื่อมีอาการไม่เกิน 5 วัน อย่างตัวอย่างที่มีการศึกษา ให้ในกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้รับวัคซีนโควิด หรือได้รับวัคซีนโควิดไม่ครบ หรือมีโรคร่วมอย่างใดอย่างหนึ่ง
สำหรับในปัจจุบัน ประเทศไทยใช้ยาอยู่ 2 ชนิดในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 คือยาฟาวิพิราเวียร์ และยาเรมเดซิเวียร์ ซึ่งการพิจารณาให้ยารักษาผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละบุคคล
ส่วนการบริหารจัดการเตียงในกรุงเทพฯและปริมณฑลตอนนี้ โรงพยาบาลสนาม ฮอสพิเทล หลายแห่งได้ปิดลง หลังจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อดีขึ้น และมีการรักษาผู้ป่วยในระบบ HI หรือ การรักษาที่บ้าน รวมถึงในศูนย์พักคอยชุมชน มากขึ้น ตอนนี้หากโรงพยาบาลของกรมการแพทย์ เจอผู้ติดเชื้อก็จะส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลเลิดสิน
ภาพจาก AFP
หากโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์เจอผู้ป่วย หลายโรงเรียนแพทย์ก็ส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งตอนนี้โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะเริ่มกลับมาเข้าสู่การรักษาผู้ป่วยทั่วไปในระบบปกติ หลังจากผู้ป่วยทั่วไปเลื่อนผ่าตัดมานานในช่วงโควิด 19 แต่ถ้าอนาคตคนไข้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทุกโรงพยาบาลได้มีการหารือกันแล้ว ซึ่งมีการพูดคุยทุกสัปดาห์ โดยแต่ละแห่งพร้อมที่จะกลับมารับมือกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากพบผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ก็จะเน้นการรักษาในรูปแบบ HI หรือการรักษาที่บ้าน
นอกจากนี้ นพ.สมศักดิ์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ที่ จ.เชียงใหม่ ด้วยว่า การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ ตอนนี้ได้เน้นการรักษาที่บ้านมากขึ้น รวมถึงการเปิดศูนย์พัฒนาชุมชนและฮอลพิเทล ซึ่งได้มีการแนะนำนายแพทย์สาธารณสุขเชียงใหม่ไปแล้วเมื่อเดือนที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงที่เชียงใหม่เดิมพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
ภาพจาก AFP