รีเซต

จีนไม่ง้ออเมริกา หนุนบริโภคในประเทศ รับมือภาษีทรัมป์

จีนไม่ง้ออเมริกา หนุนบริโภคในประเทศ รับมือภาษีทรัมป์
TNN ช่อง16
2 พฤษภาคม 2568 ( 12:36 )
10

เมื่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติลงได้ในเร็ววัน และดูเหมือนจะยืดเยื้อกว่าที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเคยประเมินไว้ จึงทำให้รัฐบาลจีนต้องเร่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับ “การบริโภคภายในประเทศ” หวังทดแทนรายได้ที่สูญเสียจากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ ท่ามกลางภาษีนำเข้าที่พุ่งสูงเกิน 100% ในบางรายการสินค้า

จีนเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายให้ GDP เติบโตตามเป้าที่วางไว้ 5% โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยอดค้าปลีกพุ่งขึ้นเกือบ 6% นับเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี สะท้อนพลังการบริโภคที่เริ่มขยับอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม รายงานจาก Capital Economics ระบุว่า แม้จะมีสัญญาณบวก แต่แรงกระตุ้นจากภายในยังไม่เพียงพอหากต้องการชดเชยผลกระทบจากสงครามการค้า ที่คาดว่ามีมูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านหยวน

ในเชิงทฤษฎี ผู้บริโภคชาวจีนสามารถมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจได้ แต่มีเงื่อนไขสำคัญที่ต้องจับตาถึง 5 ประการด้วยกัน ข้อแรกคือ ขนาดตลาดผู้บริโภค แม้จีนจะมีประชากรถึง 1,400 ล้านคน ถือเป็นตลาดบริโภคภายในที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่กำลังซื้อเฉลี่ยต่อหัวของจีนอยู่ที่เพียง 12,000 ดอลลาร์ต่อปี ขณะที่สหรัฐฯ สูงถึง 76,000 ดอลลาร์ต่อปี จึงทำให้แม้มีจำนวนมาก แต่กำลังซื้อต่อคนยังน้อยกว่าหลายเท่า

ข้อที่สองคือพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนที่ยังคง “เน้นออมมากกว่าจับจ่าย” เนื่องจากความไม่แน่นอนในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ การศึกษา หรือแม้แต่ความเสี่ยงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้มีอัตราการออมสูงถึง 30% ของรายได้ครัวเรือน ขณะที่ในสหรัฐฯ มีอัตราการออมต่ำกว่า 10% และเป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภค ทำให้วัฒนธรรมการจับจ่ายยังคงต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจัยสำคัญข้อที่สามคือ ปัญหาตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งยังคงกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ราคาบ้านในจีนได้รับผลกระทบจากวิกฤตของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หลายราย เช่น Evergrande และ Country Garden ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ บ้านถือเป็นทรัพย์สินหลักของชาวจีน หากมูลค่าทรัพย์สินลดลง ความมั่นใจในการจับจ่ายย่อมถดถอยตามไปด้วย

ส่วนข้อที่สี่คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังมีขนาดเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับมูลค่าความเสียหายจากภาษีสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น โครงการเปลี่ยนสินค้าเก่าแลกซื้อสินค้าใหม่ (Trade-in Program) ที่รัฐบาลจีนออกมา มูลค่าเพียง 300,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 0.2% ของ GDP เท่านั้น ซึ่งยังห่างไกลจากขนาดความเสียหายที่ประเมินไว้ถึง 2 ล้านล้านหยวน หากไม่มีการโอนเงินตรงเข้าสู่มือประชาชนมากกว่านี้ โอกาสฟื้นตัวจากภายในจะเป็นไปได้ยาก

และประการสุดท้ายคือ ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า ที่ทำให้ผู้ประกอบการจีนลดการลงทุนและการจ้างงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นโดยรวมของประชาชน เมื่อรายได้ไม่แน่นอน ผู้คนจึงหันไปเน้นการออมมากกว่าการบริโภคในระยะสั้น

แม้รัฐบาลจีนจะมีความพยายามในการใช้กลยุทธ์ “พึ่งพาตนเอง” ผ่านการกระตุ้นตลาดผู้บริโภคภายในประเทศ แต่หากเงื่อนไขทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมายังไม่สามารถคลี่คลายได้อย่างแท้จริง ก็อาจทำให้เป้าหมายในการทดแทนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ด้วยกำลังบริโภคจากภายในประเทศนั้น ยังเป็นเป้าหมายที่อยู่ห่างไกลกว่าที่คาด

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง