จุฬาฯ เผยผลวิจัยล่าสุด วัคซีน ChulaCov19 กระตุ้นภูมิสูง ต้านไวรัสข้ามสายพันธุ์
วันนี้ (18 พ.ย.64) ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยความคืบหน้าการผลิต"วัคซีน ChulaCov19" ว่า หลังจากได้ทดลองในระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 จนเสร็จสิ้น
ผลสรุป คือ วัคซีนปลอดภัย หลังฉีดเข็ม 2 ในอาสาสมัคร จะมีไข้ปวดเมื่อยจำนวนหนึ่ง และอาการจะดีขึ้น 1-2 วัน ส่วนการกระตุ้นภูมิมีภูมิขึ้นสูงมากยิ่งฉีดในปริมาณมาก ยิ่งได้ภูมิสูงไม่ด้อยกว่าไฟเซอร์ และป้องกันไวรัสข้ามสายพันธุ์ได้ โดยเฉพาะอัลฟ่ากับเดลต้า
หลังจากนี้เตรียมเข้าสู่การทดลองระยะที่ 3 เพื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนไฟเซอร์ ว่า วัคซีน ChulaCov19 ไม่ด้อยกว่าและมีความปลอดภัย ขณะเดียวกันวัคซีนนี้ผลิตในประเทศไทยเสร็จเรียบร้อย บรรจุขวดเรียบร้อย รอตรวจประกันคุณภาพเท่านั้น
หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน จะสามารถเปิดรับอาสาสมัครก่อนสิ้นปี และเริ่มฉีดทดลองระยะ 3 ต้นปีหน้า และคาดว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้นภายในมีนาคม หลังจากนั้น จะรวบรวมข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนต่อไป ซึ่งหากขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉินได้ ต้องรับเงื่อนไข อย. และหลังจากนั้นจะเตรียมทดสอบในอาสาสมัครที่มีอายุ
ขณะที่ ความคืบหน้า "วัคซีนใบยา" นั้น ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CEO บริษัท ไบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด ระบุว่า หลังจากทดสอบมนุษย์ ระยะที่ 1 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในอาสาสมัคร 18-60 ปี ฉีดเรียบร้อยแล้ว อยู่ในช่วงติดตามความปลอดภัย
และผลกระตุ้นภูมิ เบื้องต้นพบว่ามีความปลอดภัย ส่วนผลการกระตุ้นภูมินั้น ยังคงต้องติดตามดูในช่วงระยะเวลา 50 วัน หลังอาสาสมัครเข้ามาในโครงการ จึงทำให้ยังไม่ทราบผล
ช่วงนี้จึงเริ่มรับอาสาสมัคร กลุ่มผู้สูงอายุ 61-75 ปี เพื่อทดลองต่อ ซึ่งจะเริ่มฉีดในเดือนธันวาคม และคาดว่าวัคซีนรุ่นที่ 2 ของใบยา จะเริ่มทดสอบกับมนุษย์ ในเดือนมกราคมปีหน้า หลังจากนั้น ช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะเลือกวัคซีนที่สามารถกระตุ้นภูมิได้ดี ทดลองในระยะที่ 2 ต่อไป
ภาพจาก www.chulavrc.org