รีเซต

โควิด-19 : ผลทดลองชี้ยาโมลนูพิราเวียร์ลดความเสี่ยงนอนโรงพยาบาล

โควิด-19 : ผลทดลองชี้ยาโมลนูพิราเวียร์ลดความเสี่ยงนอนโรงพยาบาล
ข่าวสด
5 ตุลาคม 2564 ( 22:11 )
18
โควิด-19 : ผลทดลองชี้ยาโมลนูพิราเวียร์ลดความเสี่ยงนอนโรงพยาบาล

ผลทดลองทางเบื้องต้นพบว่าการให้ยาเม็ดโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) แก่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 วันละ 2 ครั้ง ช่วยลดความเสี่ยงต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตลงได้ครึ่งหนึ่ง

 

 

เมอร์ค (Merck) บริษัทผู้ผลิตยาของสหรัฐฯ ระบุว่าการทดลองยาดังกล่าวของบริษัทได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง จนทำให้ผู้สังเกตการณ์จากภายนอกได้ขอให้ยุติการทดลองเร็วขึ้น จากนี้บริษัทเมอร์คจะยื่นขออนุญาตใช้ยานี้เป็นการฉุกเฉินในสหรัฐฯ ในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า

 

 

ด้าน ดร.แอนโธนี เฟาซี หัวหน้าที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวว่า ผลที่ออกมา "เป็นข่าวดีมาก" แต่ขอให้ระมัดระวังจนกว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (US Food and Drug Administration--FDA) ได้ตรวจสอบข้อมูลก่อน

 

 

ยารับประทานชนิดแรก

หากหน่วยงานกำกับดูแลยาอนุมัติให้ยายาโมลนูพิราเวียร์ได้ ก็จะถือเป็นยาต้านไวรัสโรคโควิด-19 ชนิดรับประทานชนิดแรกที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้

 

 

ยาเม็ดซึ่งเดิมทีตั้งใจจะพัฒนาขึ้นเพื่อใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่นี้ จะไปทำให้เกิดความผิดพลาดกับรหัสพันธุกรรมของไวรัส โดยพุ่งเป้าไปที่เอนไซม์ที่ไวรัสใช้ในการแบ่งตัว ดังนั้นจึงจะช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่กระจายในร่างกายได้

 

 

ขณะที่วัคซีนป้องกันโรคโควิดส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ปุ่มโปรตีนของไวรัส

ผลการศึกษาจากผู้ป่วย 775 คน พบว่า :

  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ 7.3% ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
  • เปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก 14.4% ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
  • ไม่มีผู้เสียชีวิตในกลุ่มผู้ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ แต่ผู้ป่วย 8 คนที่ได้รับยาหลอกในการทดลองนี้ เสียชีวิตในเวลาต่อมาจากโควิด

ขณะนี้มีการเผยแพร่เอกสารข่าวเรื่องนี้แล้ว และยังไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ

 

 

ดาเรีย ฮาซุดา รองประธานฝ่ายการค้นพบโรคติดเชื้อของเมอร์ค กล่าวกับบีบีซีว่า "การรักษาด้วยยาต้านไวรัสในคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือคนที่ตอบสนองต่อภูมิต้านทานจากวัคซีนต่ำ เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญมากในการช่วยยุติการระบาดใหญ่นี้"

 

 

ทั้งนี้ ผลการทดลองพบว่า ผู้ป่วยจำเป็นต้องกินยาโมลนูพิราเวียร์ตั้งแต่เริ่มมีอาการเพื่อให้การรักษาได้ผล

 

 

ขณะที่การศึกษาก่อนหน้านี้กับผู้ป่วยโควิดหนักที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ถูกระงับไป หลังจากได้ผลการทดลองที่น่าผิดหวัง

 

 

การอนุมัติให้ใช้งานทั่วโลก

เมอร์ค เป็นบริษัทแรกที่รายงานผลการทดลองใช้ยาเม็ดในการรักษาโควิด แต่มีบริษัทอื่น ๆ อีกหลายแห่งที่กำลังพัฒนาการรักษาที่คล้ายคลึงกัน เช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่แข่ง ได้เริ่มการทดลองขั้นสุดท้ายกับตัวยาต้านไวรัส 2 ชนิด ขณะที่บริษัทโรช (Roche) ของสวิตเซอร์แลนด์ กำลังพัฒนายาที่คล้ายคลึงกัน

 

 

เมอร์ค เคยระบุว่า คาดว่าจะผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ได้ 10 ล้านชุด ภายในสิ้นปี 2021 ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ตกลงที่จะซื้อยานี้แล้วคิดเป็นมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.05 หมื่นล้านบาท) หากผ่านการรับรองจากเอฟดีเอ

 

 

นอกจากนี้เมอร์คยังอยู่ระหว่างหารือกับอีกหลายประเทศ รวมถึงสหราชอาณาจักร และตกลงให้ใบอนุญาตกับผู้ผลิตยาสามัญจำนวนหนึ่งเพื่อจัดหายาให้แก่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ

 

 

ศาสตราจารย์ เพนนี วอร์ด จากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน (King's College London) ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมในการทดลองนี้ กล่าวว่า "มีการตั้งความหวังไว้สูงว่าคณะทำงานที่ดูแลด้านยาต้านไวรัส เช่นเดียวกับคณะทำงานด้านวัคซีน จะได้สั่งซื้อยาชนิดนี้ไว้ล่วงหน้าแล้ว" เพื่อที่สหราชอาณาจักรจะสามารถรับมือได้ และช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service หรือ NHS) ในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง

 

 

ศาสตราจารย์ ปีเตอร์ ฮอร์บี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า "ยาต้านไวรัสชนิดรับประทานที่ได้ผล ราคาไม่แพง และปลอดภัย จะถือเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในการต่อสู้กับโควิด"

 

 

"โมลนูพิราเวียร์ ดูจะได้ผลดีในห้องปฏิบัติการ แต่จะได้ผลดีเมื่อใช้จริงกับคนไข้หรือไม่ มียาหลายชนิดล้มเหลวในขั้นตอนนี้ แต่ผลการทดลองเบื้องต้นนี้ถือว่าทำให้มีความหวังเกิดขึ้น"

ไทยเล็งนำเข้า

ด้านรองโฆษกรัฐบาลของไทย ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์ หากผลการวิจัยสำเร็จและขึ้นทะเบียนถูกต้องจะสั่งนำเข้าทันที

 

 

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาลโพสต์ทางเฟซบุ๊กเมื่อเดือน ก.ย. ว่า "#กระทรวงสาธารณสุข เตรียมนำเข้ายารักษาโรค #โควิด19 โดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้มียาหลายตัวที่ต่างประเทศกำลังวิจัยในระยะที่ 3 เช่น ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ของบริษัท MSD ยาโปรตีเอส อินฮิบิเตอร์ (Protease Inhibitor) ของไฟเซอร์ คาดว่าจะรู้ผลวิจัยช่วงกันยายน-พฤศจิกายนนี้"

 

 

"หากผลวิจัยสำเร็จในช่วงปลายกันยายนนี้ บริษัทผู้ผลิตวางแผนจะขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาในเดือน ต.ค. 64 ส่วนประเทศไทยคาดว่าจะมีการขึ้นเทียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ภายใน พ.ย. นี้ และจะมีการสั่งนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยต่อไป ซึ่งยาตัวนี้จะนำมาใช้แทนยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากกลไกการทำงานเหมือนกันสามารถยับยั้งไวรัสเข้าสู่เซลล์ แต่ยาโมลนูพิราเวียร์จะเฉพาะเจาะจงกับไวรัสก่อโรคโควิด-19 โดยจะใช้ 40 เม็ด 5 วัน ต่อผู้ป่วย 1 คน ที่มีอาการน้อย" รองโฆษกรัฐบาลระบุทางเฟซบุ๊ก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง