เอกชนห่วง"เกษตรกร"ถูก"ภาษีทรัมป์"กระทบ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการเจรจาภาษีระหว่างไทยกับสหรัฐว่า ไทยจะครบระยะเวลาผ่อนปรนภาษีนำเข้าสินค้าเหลือร้อยละ 10 จากสหรัฐในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ซึ่งปกติการเจรจาจะต้องเกิดขึ้นหลายรอบ
แต่ไทยเพิ่งได้เริ่มเจรจาวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้ต้องมีการปรับหรือแก้ไขข้อเสนอใหม่ โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะมีการขยายเวลาให้หรือไม่
ส่วนเวียดนามเป็นไปตามที่ทราบกันแล้ว ขณะที่ประเทศอื่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐบอกว่าจะขยายเวลาออกไปอีก
แต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ มีความใจร้อน อาจส่งจดหมายไปยังประเทศที่เจรจายังไม่แล้วเสร็จอีก 100 กว่าประเทศ
ดังนั้น หากเป็นไปตามที่เคยคาดการณ์ไว้ และเป็นไปในลักษณะที่การเจรจาไม่ทันกำหนดเดดไลน์ ข้อตกลงระหว่างสหรัฐกับเวียดนามอาจจะเป็นต้นแบบ หรือโมเดลให้กับประเทศในภูมิภาค
ทั้งนี้ เวียดนามถูกการประกาศใช้นโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ที่ร้อยละ 46 ส่วนไทยถูกเรียกเก็บภาษีที่ร้อยละ 36 ส่วนประเทศที่ถูกเก็บภาษีมากที่สุด คือ ลาวที่ร้อยละ 49 กัมพูชาร้อยละ 48
ส่วนสิงคโปร์ถูกเรียกเก็บต่ำสุดในภูมิภาคอยู่ที่ร้อยละ 10 ดังนั้น จึงมองว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ เมื่อสหรัฐไม่สามารถเจรจากับประเทศที่เหลือได้ทัน อาจนำแนวทางเดียวกับเวียดนามมาใช้
โดยเก็บภาษีร้อยละ 20 กรณีที่เป็นสินค้าจากเวียดนาม ส่วนสินค้าที่มีการสวมสิทธิผ่านเวียดนามจะถูกเรียกเก็บที่ร้อยละ 40
และยังมีอีกหนึ่งเงื่อนไขพ่วงด้วย คือเวียดนามจะไม่เก็บภาษีใดๆ ในการนำเข้าสินค้าสู่เวียดนาม หรือภาษีเป็น 0% ทุกรายการ ถือว่าเป็นเรื่องใหม่
แต่สิ่งที่ที่ไทยห่วงจากการไม่เก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐหรือเป็น 0% คือ สินค้าภาคการเกษตร เพราะปัจจุบันสินค้าจากสหรัฐที่ส่งออกทางการเกษตรราคาถูก และผลิตได้ปริมาณมาก
หากไทยไม่เก็บภาษี จะมีสินค้าเข้ามาถล่มเกษตรกรไทยไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด การเลี้ยงหมู วัว ซึ่งจะกระทบเกษตรกรและภาคปศุสัตว์ไทยกว่า 20 ล้านราย หากมีสินค้าจากสหรัฐเข้ามายังไม่รู้ว่าจะรับมือกับผลกระทบไหวหรือไม่
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
