รีเซต

ต้นกำเนิด คบเพลิงโอลิมปิก เปลวไฟของความหวัง

ต้นกำเนิด คบเพลิงโอลิมปิก เปลวไฟของความหวัง
TrueID
8 กรกฎาคม 2564 ( 07:55 )
667
ต้นกำเนิด คบเพลิงโอลิมปิก เปลวไฟของความหวัง

นอกจากห่วงสีทั้งห้า และช่อใบมะกอก อันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความถึงการแข่งขันโอลิมปิก อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นหน้าตาของมหกรรมกีฬาระดับโลกนี้ คงต้องยกให้ คบเพลิงโอลิมปิก ที่จะมีการจุดขึ้นทุกครั้งที่การแข่งขันของมวลมนุษยชาติได้เริ่มต้นขึ้น และนี่คือความเป็นมาของคบเพลิงที่เป็นดั่งความฝันและความหวังของนักกีฬาจากทั่วโลก วันนี้ trueID รวบรวมข้อมูลของ "การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก" มาให้ทุกคนได้ทราบกันแล้ว

 

ในสมัยกรีกโบราณ เพลิงถือว่าไฟเป็นสัญลักษณ์แห่งเทพดาด้วยเชื่อถือกันว่า 'เทพโพรมีเทียส' ขโมยจาก 'เทพเจ้าซุส' ลงมามอบให้แก่มนุษยชาติมีไว้บริโภคเป็นครั้งแรก ดังนั้น จึงมีการจุดและรักษาเพลิงให้โชติช่วงไว้ตลอด ณ ศาสนสถานหลายแห่งในเมืองโอลิมเปีย (Olympia) ประเทศกรีซ เช่นเดียวกับในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอันมีขึ้นเพื่อเฉลิมเกียรติของเทพเจ้าซุส ที่มีการจุดและรักษาเพลิงไว้ ณ วิหารของซุสและวิหารแห่งเทวีเฮรา (Hera) ภริยาของซุส ปัจจุบัน ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกแต่ละครั้ง จะเริ่มจุดเพลิงโอลิมปิกขึ้นเป็นหนแรกจากวิหารแห่งเทวีเฮราที่ประเทศกรีซ

 

การซ้อมพิธีจุดเพลิงโอลิมปิก / CC BY 3.0

 

ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปัจจุบัน

 

ประเพณีการจุดและรักษาเพลิงไว้เช่นเดียวกับสมัยโบราณได้รับการฟื้นฟูขึ้นในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม พ.ศ. 2471 โดยพนักงานการไฟฟ้าแห่งอัมสเตอร์ดัมผู้หนึ่งเป็นผู้จุดเพลิงโอลิมปิกปัจจุบันเพลิงแรกขึ้น ณ หอมาราทอนเทาเวอร์ (Marathon Tower) ที่สนามกีฬาโอลิมปิก กรุงอัมสเตอร์ดัม

 

ส่วนประเพณีการส่งผ่านและวิ่งซึ่งคบเพลิงโอลิมปิกระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องไปสิ้นสุดยังประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขันนั้น มีนายคาร์ล ไดเอ็ม (Carl Diem) และนายโยเซฟ เกิบเบลส์ (Joseph Goebbels) เป็นผู้ริเริ่มในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงเบอร์ลิน พ.ศ. 2479

 

ประเพณีการส่งคบเพลิงผ่านระหว่างประเทศดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ทางการโฆษณาชวนเชื่อบทหนึ่งของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้ต้องการเชื่อมโยงปรัมปรากรีกโบราณเข้ากับตนเอง เพราะมีความเชื่อส่วนตัวว่าชาวกรีกโบราณเป็นอารยชนผู้เป็นรากเหง้าของชาวเยอรมัน ฮิตเลอร์เห็นว่าการแข่งขันกีฬาจากสมัยโบราณย่อมเป็นหนทางอันประเสริฐที่จะแสดงและอธิบายความเชื่อดังกล่าวของตน

 

ทั้งนี้ ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส่วนใหญ่จะกำหนดให้มีผู้วิ่งคบเพลิง และการส่งคบเพลิงผ่านระหว่างประเทศได้กระทำหลายทาง เช่น ทางเรือใน พ.ศ. 2491 ผ่านช่องแคบอังกฤษ และทางอากาศเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2495 ไปยังกรุงเฮลซิงกิ อนึ่ง ใน พ.ศ. 2499 ซึ่งการแข่งขันขี่ม้าได้ย้ายจากเมืองเมลเบิร์นมาจัดที่กรุงสต็อกโฮล์ม ได้มีการลำเลียงคบเพลิงโอลิมปิกไปบนหลังม้าอีกด้วย

 

 

การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกฤดูร้อน 1952 / CC BY-SA 2.0

 

การจุดเพลิงโอลิมปิก

 

การจุดเพลิงโอลิมปิกจะเริ่มต้นก่อนการแข่งขันเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งการจุดเพลิงโอลิมปิกจะจัดที่เดียวกับการแข่งขันโอลิมปิกสมัยโบราณ ณ เมืองโอลิมเปีย, ประเทศกรีซ ผู้หญิงที่จุดเพลิงจะต้องเป็นหญิงพรหมจรรย์ทั้งหมด 11 คน ซึ่งจะจุดเพลิงที่วิหารฮีรา โดยใช้จานสะท้อนแบบพาราโบลา ซึ่งมีแสงจากดวงอาทิตย์มาเป็นรังสีที่จะทำให้เพลิงจุดประกาย

 

 

ผู้จุดคบเพลิง

 

ผู้จุดคบเพลิงกีฬาโอลิมปิกจะต้องเป็นผู้ที่เป็นนักกีฬาที่มีความสำคัญกับวงการกีฬาของประเทศที่เป็นเจ้าภาพ หรือเกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิก เช่น ได้เหรียญรางวัลในกีฬาโอลิมปิก เป็นต้น แต่ในกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่น ผู้จุดคบเพลิงในพิธีเปิด ไม่ได้เป็นนักกีฬา แต่เป็นผู้เกิดในวันที่นครฮิโรชิม่าถูกทิ้งระเบิดปรมาณู ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในกีฬาโอลิมปิกที่คนจุดคบเพลิง ไม่ได้เป็นนักกีฬา

 

 

การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกฤดูหนาว 2014 ในอวกาศ / สาธารณสมบัติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง