เปิด 5 คดีประชาชนถูก “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ลวงโอนเงิน สูญกว่า 40 ล้านบาท

นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 31 มีนาคม – 6 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย
คดีที่ 1 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 25,950,795 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา แจ้งว่าผู้เสียหายเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฟอกเงินและคดียาเสพติด
ซึ่งจะต้องเข้ารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานสอบสวน และเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบตามกฎหมาย พร้อมทั้งให้ดำเนินการโอนเงินในบัญชีธนาคารเพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน ภายหลังการตรวจสอบความบริสุทธิ์เสร็จสิ้นแล้ว จะดำเนินการคืนเงินให้ ผู้เสียหายหลงเชื่อให้ความร่วมมือโอนเงินไป หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อได้และไม่ได้รับเงินคืน ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 6,721,681 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ แจ้งให้ผู้เสียหายรับเอกสารจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ที่ทำการไปรษณีย์ แนะนำให้ผู้เสียหายยืนยันการรับเอกสารโดยดำเนินการตามขั้นตอนที่มิจฉาชีพแจ้ง ผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร เมื่อทำรายการเสร็จพบว่าเงินถูกโอนออกไปจากบัญชีจนหมด และไม่สามารถติดต่อกลับได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 3,045,402 บาท โดยผู้เสียหายโพสต์ขายเสื้อผ้าผ่านช่องทาง Facebook มิจฉาชีพติดต่อเข้ามาแจ้งว่าสนใจจะขอซื้อสินค้า จากนั้นเพิ่มเพื่อนผ่าน Line ต่อมาได้ชักชวนให้ผู้เสียหายลงทะเบียนร้านค้าเพื่อเพิ่มยอดขาย ในช่วงแรกมีการซื้อสินค้าและได้รับเงินจริง มิจฉาชีพแจ้งให้โอนเงินเพื่อเปิดระบบ เปิดการมองเห็นร้านค้าและทำกิจกรรมให้เลือกสินค้า ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงทำการโอนเงินไป ภายหลังไม่สามารถถอนเงินออกได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 คดีหลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าความเสียหาย 3,171,232 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายพบเห็นโฆษณาเทรดเหรียญดิจิทัล ลงทุนง่ายผลตอบแทนสูง ผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงสอบถามผ่าน Messenger Facebook จากนั้นเพิ่มเพื่อนผ่าน Line สอบถามพูดคุยรายละเอียดการเทรดเหรียญดิจิทัล มิจฉาชีพแจ้งว่าได้ผลตอบแทนสูง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินร่วมเทรดหุ้นเป็นจำนวนมาก ในช่วงแรกได้รับผลตอบแทนจริง ภายหลังผู้เสียหายลงทุนโอนเงินเพื่อเทรดเหรียญดิจิทัลจำนวนมากขึ้น แต่ไม่สามารถทำรายการถอนออกได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 5 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 1,470,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แจ้งว่าจะคืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าให้ โดยให้เพิ่มเพื่อนผ่าน Line พร้อมทั้งส่ง QR Code ให้ผู้เสียหายสแกนเพื่อรับเงินคืน หลังจากสแกนและทำตามขั้นตอนพบว่าเงินในบัญชีถูกโอนออกไป เมื่อสอบถามกลับไปได้รับการแจ้งว่าเกิดจากระบบผิดพลาดให้ทำรายการใหม่อีกครั้ง แล้วจะดำเนินการโอนเงินคืนให้ทั้งหมด ผู้เสียหายหลงเชื่อทำรายการซ้ำไปเรื่อย ๆ จนเงินหมดบัญชี ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 40,359,110 บาท
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 4 เมษายน 2568 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้
1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,608,587 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,087 สาย
2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 589,009 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,230 บัญชี
3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 186,735 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 31.70 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 139,986 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.77 (3) หลอกลวงลงทุน 87,004 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.77 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 66,662 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 11.32 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 42,496 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.21 (และคดีอื่นๆ 66,126 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 11.23)
“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย โดยข่มขู่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลอกลวงเหยื่อว่าเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน และคดียาเสพติด โดยให้เหยื่อโอนเงินเพื่อตรวจสอบบัญชี กว่า 25 ล้านบาท ทั้งนี้ขอย้ำว่า หน่วยงานของรัฐ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ จะไม่มีการโทรติดต่อโดยตรง หรือติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย และจะไม่มีการให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบบัญชีแต่อย่างใด ดังนั้นหากมีการติดต่อเข้ามา ให้ประเมินว่าเป็นการหลอกลวงของมิจฉาชีพ ด้านการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบ และติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดยกระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง