รีเซต

ผู้หญิงจากหลากหลายวงการทั่วโลกสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่อะไรบ้างในปี 2020

ผู้หญิงจากหลากหลายวงการทั่วโลกสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่อะไรบ้างในปี 2020
ข่าวสด
27 ธันวาคม 2563 ( 11:53 )
130
  • เอกรินทร์ บำรุงภักดิ์
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

รอบปีที่ผ่านมา ผู้หญิงหลายคนประสบความสำเร็จในเส้นทางของตัวเอง ทั้งในวงการการเมือง และวิทยาศาสตร์ และอาจถือได้ว่าเป็นชัยชนะของผู้หญิงในปีนี้

 

การเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่เพิ่งผ่านพ้นไปได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในหลายเรื่อง รวมถึง การที่คนผิวดำคนแรก คนอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนแรก และผู้หญิงคนแรก กำลังจะได้เป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งวันที่ 20 ม.ค. ที่จะถึงนี้

 

รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ

 

เธอผู้นั้นก็คือ กมลา เทวี แฮร์ริส อดีตวุฒิสมาชิกจากรัฐแคลิฟอร์เนียวัย 55 ปี ผู้มีแม่เป็นผู้อพยพชาวอินเดียและมีพ่อเป็นผู้อพยพชาวจาเมกา

"แม้ว่าฉันจะเป็นผู้หญิงคนแรกที่ทำหน้าที่นี้ แต่ฉันจะไม่เป็นคนสุดท้าย" กมลา กล่าว

 

ANDREW HARNIK/POOL VIA REUTERS

"แม้ว่าฉันจะเป็นผู้หญิงคนแรกที่ทำหน้าที่นี้ แต่ฉันจะไม่เป็นคนสุดท้าย" กมลา กล่าว

แต่กว่าที่จะมาถึงจุดนี้ ผู้หญิงในสหรัฐฯ ผ่านเส้นทางการต่อสู้อันแสนยาวไกล

ผู้หญิงสหรัฐฯ ได้สิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศในปี 1920 นั่นคือชัยชนะครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ แต่กว่าที่จะมีรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกเวลาก็ผ่านไป 100 ปี และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีผู้หญิงคนใดได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

"ซูซาน บี แอนโทนี"

 

ชัยชนะของกมลา ย่อมเป็นชัยชนะของผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในรุ่นก่อน ๆ ด้วย และควรค่าที่จะได้รับการกล่าวถึง หนึ่งในนั้นก็คือ ซูซาน บี แอนโทนี ซึ่งเพิ่งได้รับการอภัยโทษอย่างเป็นทางการจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในปีนี้

 

ย้อนกลับไปเมื่อราว 150 ปีก่อน ผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้ง นอกจากจะท้าทายกฎหมายสหรัฐฯ แล้ว ยังอาจถูกมองด้วยสายตาแปลกประหลาดในหมู่ผู้หญิงด้วยกัน เพราะผู้หญิงบางส่วนไม่มีการตั้งคำถามและไม่มีความคิดจะเปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่ แต่ซูซาน บี แอนโทนี คือผู้หญิงที่ยืนหยัดในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ผ่านงานเขียน การสอนหนังสือ และการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศสหรัฐฯ

 

การรณรงค์นานหลายปีของเธอไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งยังคงยืนยันที่จะปฏิเสธสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิงในการผ่านบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 14 ว่าด้วยสิทธิพลเมือง และบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 15 ว่าด้วยสิทธิเลือกตั้งของคนผิวสี

 

หลังจากนั้นเธอกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกคนได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมสิทธิเลือกตั้งผู้หญิงแห่งชาติ (National Woman Suffrage Association) ในปี 1869 โดยมีเป้าหมายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มอบสิทธิเลือกตั้งให้แก่ผู้หญิง

 

ในปี 1872 ซูซาน ในวัย 52 ปี ท้าทายกฎหมายด้วยการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เธอถูกจับและลงโทษปรับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ (เทียบเท่าประมาณ 2,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน) แต่เธอก็ไม่เคยจ่ายค่าปรับนั้น การจับกุมเธอ ทำให้ผู้คนทั่วประเทศหันมาสนใจการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิง และซูซาน ก็ยังคงนำการเคลื่อนไหวต่อไป รวมถึงนำการประท้วงเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งผู้หญิงในวันครบรอบ 100 ปี วันชาติสหรัฐฯ ในปี 1876

 

Getty Images
ซูซาน บี แอนโทนี เสียชีวิตในปี 1906 ขณะมีอายุ 86 ปี ก่อนที่รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 19 สิทธิการเลือกตั้งของสตรี จะผ่านการรับรอง 14 ปี

 

ซูซานเดินหน้าต่อสู้เรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงอเมริกันต่อไปจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต เธอเสียชีวิตในปี 1906 ขณะมีอายุ 86 ปี ในวันที่เธอจากโลกนี้ไป ผู้หญิงสหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้รับสิทธิเลือกตั้ง แต่การต่อสู้ตลอดมาทั้งชีวิตของเธอ ก็เป็นการแผ้วถางทางสำหรับนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของสตรีในเวลาต่อมา จนกระทั่งบรรลุเป้าหมายในการผ่านบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 19 ว่าด้วยสิทธิในการเลือกตั้งของสตรี หลังจากเธอเสียชีวิตถึง 14 ปี

 

บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้จึงถูกเรียกขานว่า "ซูซาน บี แอนโทนี" เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ

 

 

ช่วงเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้อภัยโทษแก่เธออย่างเป็นทางการจากความผิดฐานลงคะแนนเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในครั้งนั้น

"คุณรู้ไหม เธอไม่เคยได้รับการอภัยโทษ ทำไมถึงนานขนาดนี้" เขาพูดกับคนที่เข้าร่วมพิธีในวันนั้น

จากคำบอกเล่าของนักประวัติศาสตร์บางส่วน ระบุว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะซูซาน บี แอนโทนี ไม่เคยต้องการการอภัยโทษ เพราะเธอไม่คิดว่าสิ่งที่เธอทำเป็นความผิด

 

รมว.ต่างประเทศหญิงชาวเมารี

 

ในอีกซีกโลกหนึ่ง นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกในโลกที่ให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิง ก่อนหน้าสหรัฐฯ 27 ปี

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของประเทศ นำพาพรรคเลเบอร์ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ได้ดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของเธอ ได้มีการแต่งตั้ง นาไนอา มาฮูทา สมาชิกร่วมพรรคเลเบอร์ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

 

Getty Images
นาไนอา มาฮูทา เป็นสมาชิกรัฐสภาหญิงคนแรกของนิวซีแลนด์ที่มีรอยสักของชนพื้นเมืองเมารีบนใบหน้า

 

นาไนอา เป็นผู้หญิงคนแรกและชนพื้นเมืองเมารีหญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ และยังเป็นสมาชิกรัฐสภาหญิงคนแรกของนิวซีแลนด์ที่มีรอยสักของชนพื้นเมืองเมารีบนใบหน้าด้วย

 

เธอตอบคำถามนักข่าวหลังได้ดำรงรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนแรกว่า "เป็นเกียรติอย่างยิ่ง แต่หวังว่าผู้คนจะเห็นถึงการเป็นผู้หญิงคนแรกของผู้หญิงอีกหลายคนในรัฐสภาแห่งนี้ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากการที่เราเป็นประเทศแรกในโลกที่ให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิง เป็นประเทศแรกที่ให้ความเชื่อมั่นว่า เรามีความก้าวหน้าในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผู้หญิง"

 

การสักบนใบหน้าเป็นวัฒนธรรมหลายร้อยปีของชาวเมารี ผู้ชายชาวเมารีจะสักทั้งใบหน้า ส่วนผู้หญิงจะสักเฉพาะบริเวณคาง เป็นการบ่งบอกอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและครอบครัวของผู้นั้น

 

ไม่เพียงแต่ในวงการการเมืองเท่านั้น ในปีนี้วงการวิทยาศาสตร์ก็มีผู้หญิงที่สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่เช่นกัน

 

นักวิทยาศาสตร์หญิงล้วนคว้าโนเบลด้านวิทยาศาสตร์

 

ศาสตราจารย์เอ็มมานูเอล ชาร์เพนทิเยร์ ชาวฝรั่งเศส และศาสตราจารย์เจนนิเฟอร์ เดาด์นา ชาวอเมริกัน เป็นสองนักชีวเคมีและพันธุศาสตร์หญิง พิชิตรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปีนี้ไปครอง ด้วยผลงานการคิดค้นและพัฒนาเทคนิคใหม่เพื่อตัดต่อข้อมูลพันธุกรรมหรือจีโนม (Genome) ซึ่งวิธีนี้มีชื่อเรียกกันว่า "คริสเปอร์-แคสไนน์" (CRISPR-Cas9)

 

Getty Images
ศ. ชาร์เพนทิเยร์ (ซ้าย) เป็นนักวิจัยที่สถาบันมักซ์พลังก์ด้านชีววิทยาการติดเชื้อ (MPIIB) ของประเทศเยอรมนี ส่วน ศ. เดาด์นา นั้นสอนและวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ (UC Berkeley) ของสหรัฐฯ

 

นี่คือครั้งแรกที่รางวัลโนเบลสาขาทางวิทยาศาสตร์มีผู้ได้รับรางวัลร่วมกันเป็นผู้หญิงทั้งหมด

 

ศ. ชาร์เพนทิเยร์ เป็นนักวิจัยที่สถาบันมักซ์พลังก์ด้านชีววิทยาการติดเชื้อ (MPIIB) ของประเทศเยอรมนี ส่วน ศ. เดาด์นา สอนและวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ (UC Berkeley) ของสหรัฐฯ ทั้งสองต่างมีส่วนร่วมในการคิดค้น "กรรไกรพันธุกรรม" (genetic scissors) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางเคมีที่ใช้ตัดต่อยีนโดยมีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิมมาก

 

 

ศ. ชาร์เพนทิเยร์ กล่าวในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้หญิง 2 คนที่ได้รับรางวัลนี้ร่วมกันว่า "ฉันหวังว่า รางวัลนี้จะส่งสัญญาณบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กสาวที่อยากจะเข้าสู่เส้นทางวิทยาศาสตร์...และได้แสดงให้พวกเธอเห็นว่า ผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์สามารถสร้างผลงานที่ทรงอิทธิพลด้วยงานวิจัยที่พวกเธอทำได้เช่นกัน"

 

สตรีในโลกมุสลิม

 

โครงการด้านวิทยาศาสตร์ที่ท้าทายที่สุดโครงการหนึ่งในปีที่ผ่านมาคือ โครงการส่งดาวเทียมโฮปไปดาวอังคารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อสำรวจสภาพอากาศและภูมิอากาศของดาวอังคาร ซึ่งต้องเดินทางราว 500 ล้านกิโลเมตร คาดว่าจะถึงจุดหมายในเดือน ก.พ. 2021

 

BBC
ซาราห์ อัล อามิรี เป็นรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์ชั้นสูงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หนึ่งในแกนนำของโครงการ

 

ทราบหรือไม่ว่า หนึ่งในผู้นำในโครงการนี้คือสตรีนามว่า ซาราห์ อัล อามิรี รัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์ชั้นสูงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เธอเข้ามาร่วมงานครั้งแรกกับศูนย์อวกาศโมฮัมเหม็ด บิน ราชิด (Mohammed Bin Rashid Space Centre--MBRSC) ในนครดูไบ ในฐานะวิศวกรซอฟต์แวร์

นอกจากซาราห์แล้ว ยังมีผู้หญิงจำนวนมากได้ร่วมงานในภารกิจนี้ โดย 34% ของชาวเอมิเรตส์ที่ทำงานในโครงการโฮปคือผู้หญิง ซาราห์บอกว่าที่สำคัญกว่านั้นคือ มีสัดส่วนจำนวนผู้หญิงเท่ากับผู้ชายในระดับผู้นำภารกิจ

 

 

นอกจากนี้ ในปีนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังได้เพิ่มบทลงโทษสมาชิกในครอบครัวที่สังหารสตรีในบ้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกฎหมายอิสลามของประเทศด้วย

รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ระบุว่า จะยกเลิกกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้พิพากษาผ่อนผันบทลงโทษการสังหารเช่นนั้น ซึ่งมักจะเป็นการฆาตกรรมผู้หญิงที่ถูกกล่าวหาว่าสร้างความอับอายให้แก่วงศ์ตระกูลจากข้อกล่าวหาต่าง ๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส รัฐบาลระบุว่าจะปฏิบัติต่อการฆาตกรรมลักษณะนี้เหมือนกับการฆาตกรรมกรณีทั่วไป

 

กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า ในแต่ละปีมีผู้หญิงหลายพันคนทั่วโลกเสียชีวิตด้วยเหตุนี้

 

AFP
ซาอุดีอาระเบียอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลในสนามได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2018

 

ส่วนซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้หญิงถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพหลายอย่างเช่นกัน ในปีนี้ได้มีการตั้งสมาพันธ์ฟุตบอลหญิงขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ หลังจากที่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลในสนามได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2018

สมาพันธ์นี้ประกอบด้วยนักเตะหญิงมากกว่า 600 คน จาก 24 ทีมที่อยู่ในกรุงริยาด นครเจดดาห์ และเมืองดัมมัม ซึ่งจะฟาดแข้งกันเพื่อชิงถ้วยรางวัลชนะเลิศ

การแข่งขันนัดเปิดสนามได้เริ่มขึ้นในช่วงกลางเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา สื่อซาอุดีอาระเบียต่างยกย่องว่า เป็นก้าวสำคัญของการมีส่วนร่วมในวงการกีฬาของผู้หญิง

 

การต่อสู้ของผู้หญิงที่ยังไม่จบสิ้น

 

ขณะที่ยังมีผู้หญิงอีกจำนวนมากจากทั่วโลกที่ยังเผชิญกับความไม่เทียมและความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะในปีนี้ที่มีการล็อกดาวน์จากการระบาดของโควิด-19 องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติและองค์การยูนิเซฟประเมินว่า ทุก ๆ 3 เดือน ของการล็อกดาวน์ มีผู้หญิงทั่วโลกทุกข์ทรมานจากความรุนแรงในครอบครัวราว 15 ล้านคน องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติยังระบุด้วยว่า ช่วงโควิดทำให้ผู้หญิงต้องทำงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนในสัดส่วนที่เพิ่มมากกว่าเดิม ส่งผลให้ความเท่าเทียมทางเพศที่พัฒนามา 25 ปี อาจหายไปภายในปีเดียว

 

 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่น ๆ เช่น การถูกบังคับให้แต่งงาน การถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศ ความไม่เท่าเทียมด้านค่าตอบแทน รวมไปถึงการถูกบังคับตรวจพรหมจรรย์ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าทำงานบางอาชีพ หรือการเข้ารับโทษในเรือนจำ

แม้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลกต่างระบุชัดเจนว่า ไม่มีการตรวจใดที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเด็กหญิงหรือผู้หญิงเคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ แต่ปัจจุบันยังคงมีการตรวจเช่นนี้เกิดขึ้นในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก

 

 

ด้วยเหตุนี้ การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมและความยุติธรรมของผู้หญิงยังคงดำเนินต่อไปในหลายพื้นที่ของโลก ซึ่งปัจจุบันผู้หญิงจำนวนมากก็อาจจะอยู่ในสถานะที่ไม่ต่างจากซูซาน บี แอนโทนี เมื่อ 150 ปีก่อน ที่ยืนหยัดต่อสู้ท้าทายกับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เรียกร้องสิทธิเลือกตั้งให้ผู้หญิงอเมริกัน แต่ถูกเมินเฉย จับกุม ลงโทษ

 

ผู้หญิงจำนวนมากในอีกหลายพื้นที่ของโลกที่อาจจะโชคดีกว่าเพราะเกิดมาในยุคที่ผ่านพ้นการต่อสู้นั้นแล้ว อยู่ในยุคที่ผู้หญิงในสังคมนั้นได้รับการยอมรับอย่างทัดเทียมกับผู้ชายแล้ว ความสำเร็จของพวกเธอเป็นข้อพิสูจน์ว่า การต่อสู้ที่ผ่านมานั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และจะเป็นพลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางบวกขึ้นแก่ผู้หญิงทั่วโลก

 

ในการกล่าวสุนทรพจน์หลังคว้าชัยเลือกตั้ง กมลา ได้ยกย่องผู้หญิงที่ต่อสู้และอุทิศตัวเพื่อความเท่าเทียม เสรีภาพ และความยุติธรรมสำหรับทุกคน และการที่เธอคว้าชัยชนะได้ ก็เป็นผลมาจากการต่อสู้ฝ่าฟันของผู้หญิงในอดีตเหล่านั้น

"ฉันยืนอยู่บนบ่าของพวกเธอ" กมลา กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง