รีเซต

จับตา ‘กมลา แฮร์ริส’ จ่อเยือนเกาะปาลาวัน ใกล้พื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้

จับตา ‘กมลา แฮร์ริส’ จ่อเยือนเกาะปาลาวัน ใกล้พื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้
TNN ช่อง16
22 พฤศจิกายน 2565 ( 13:04 )
51

กมลา แฮร์ริส” รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางเยือนฟิลิปปินส์ เพื่อกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน ยืนยันในการปกป้องฟิลิปปินส์ และมีกำหนดเดินทางไปยังเกาะปาลาวัน ซึ่งอยู่ใกล้พื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ 


---“แฮร์ริส” จ่อเยือนเกาะปาลาวัน---


เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เยือนกรุงมะนิลา และได้พบปะกับประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ และยืนยันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์ กับสหรัฐฯ ยาวนานและมั่นคง บนพื้นฐานของความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจซึ่งกันและกัน  


สหรัฐฯ ย้ำอยู่เสมอว่า สหรัฐฯ ยืนเคียงข้างฟิลิปปินส์ ปกป้องกฎหมายและบรรทัดฐานสากล  ดังนั้นการโจมตีกองทัพ เรือ และเครื่องบินของฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ จะทำให้สหรัฐฯ เข้าไปมีส่วนร่วมทางทหาร เพื่อปกป้องชาติพันธมิตร ภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์ ที่ทำขึ้นเมื่อปี 1951

          

แฮร์ริส กล่าวด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์ แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกันยายน ประธานาธิบดีมาร์กอส ได้พบปะประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในระหว่างการเดินทางไปนครนิวยอร์ก เพื่อร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 77 ด้วย


ขณะที่ มาร์กอส จูเนียร์ กล่าวว่า เขาไม่เห็นอนาคตของฟิลิปปินส์ที่ไม่มีสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย


แฮร์ริส ถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของสหรัฐฯ คนแรกที่เดินทางเยือนฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่มาร์กอส ก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน เพื่อส่งสัญญาณในการสานสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์



---ข้อตกลง Edca---


ในวันเดียวกันนี้ แฮร์ริสได้พบกับรองประธานาธิบดีซารา ดูแตร์เต ซึ่งเป็นลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีดูแตร์เต ด้วยเช่นกัน 


ทั้งนี้ The Straits Times รายงานว่า สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและยาวนานกับฟิลิปปินส์และตระกูลมาร์กอส โดยมาร์กอสผู้พ่อ ซึ่งปกครองฟิลิปปินส์มานานกว่าสองทศวรรษนั้น ได้รับการสนับสนุนโดยสหรัฐฯ ซึ่งมองว่าในตอนนั้น เขาคือพันธมิตรสหรัฐฯ ในสงครามเย็น


อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์ มีปัญหาในช่วงการปกครองของ “โรดริโก ดูแตร์เต” โดยในปี 2016 ดูแตร์เตได้พาดพิงถึงอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาอย่างหยาบคาบ หลังโอบามาเตือนว่า ดูแตร์เตอาจถูกสอบสวนกรณีทำสงครามต่อต้านยาเสพติด 


แต่เมื่อฟิลิปปินส์ได้ผู้นำคนใหม่ จึงทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ กลับมาแสวงหาพันธมิตรด้านความมั่นคงกับฟิลิปปินส์อีกครั้ง ผ่านสนธิสัญญาด้านกลาโหมระหว่างกันที่มีมานานแล้ว และข้อตกลงในปี 2014 ที่มีชื่อว่า Edca 


ข้อตกลงาดังกล่าว ทำให้กองทัพสหรัฐฯ สามารถจัดเก็บอุปกรณ์ทางการทหารและเสบียงได้ตามฐานทัพของฟิลิปปินส์ 5 แห่ง และอนุญาตให้สหรัฐฯ สับเปลี่ยนกำลังพลของตนตามฐานทัพเหล่านั้นได้ แต่ข้อตกลง Edca นั้นหยุดชะงักในรัฐบาลของดูแตร์เต


ข้อตกลง Edca ยังเปิดทางให้สหรัฐฯ สามารถสร้างคลัง อาศัยพักอาศัย และอาคารฝึกทหาร ตลอดจนเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ได้ ยกเว้นอาวุธนิวเคลียร์ โดยโครงสร้างเหล่านั้นจะตกเป็นของรัฐบาลฟิลิปปินส์เมื่อสหรัฐฯ ถอนตัวออกไป


---เยือนเกาะใกล้พื้นที่พิพาททะเลจีนใต้---


ขณะเดียวกัน ในวันอังคารนี้ แฮร์ริสมีกำหนดเยือนเกาะปาลาวัน ซึ่งเป็นด่านหน้าของฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งสะท้อนว่าสหรัฐฯ กังวลมากระดับไหน ในการรักษาเส้นทางน้ำให้เปิดกว้างสำหรับการค้าและการเดินเรือ ตลอดจนทำให้พันธมิตรอย่างฟิลิปปินส์มั่นใจ


The Straits Times รายงานอ้างผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้การเยือนเกาะปาลาวันของแฮร์ริส อาจทำให้จีนไม่สบายใจ แต่สหรัฐฯ จะได้ประโยชน์ จากการที่ส่งสัญญาณหนักแน่น เพื่อรับประกันให้แก่ฟิลิปปินส์


ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ยกระดับหน่วยยามชายฝั่งของฟิลิปปินส์มาอยู่แล้ว และในการเยือนครั้งนี้ แฮร์ริสจะขึ้นเรือยามชายฝั่งฟิลิปปินส์ที่ใหญ่ที่สุดลำหนึ่งด้วย


ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยเป็นอดีตอาณานิคมของสหรัฐฯ เคยเป็นหนึ่งในที่ตั้งของฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ นอกจากผืนแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ 


แต่ฐานทัพเหล่านั้นได้ปิดตัวลงในช่วงยุคต้นทศวรรษที่ 90 หลังวุฒิสภาฟิลิปปินส์ปฏิเสธการขยายฐานทัพ และให้ทหารอเมริกันมีส่วนร่วมผ่านการซ้อมรบขนาดใหญ่กับกองทัพฟิลิปปินส์ ภายใต้ข้อตกลงปี 1999 ว่าด้วยเยือนของทหารระหว่างกัน


---สัมพันธ์ทางทหารสหรัฐฯ-ฟิลิปปินส์---


ด้านเสนาธิการทหารของกองทัพฟิลิปปินส์ เผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สหรัฐฯ ต้องการสร้างโครงสร้างทางการทหารเพิ่มในอีก 5 พื้นที่ทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ โดยหนึ่งในนั้น คือ จังหวัดคากายัน ซึ่งอยู่ตรงข้ามช่องแคบไต้หวัน และอาจเป็นจุดปฏิบัติการที่สำคัญมาก หากเกิดความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวัน


ส่วนพื้นที่อื่น ๆ คือ จังหวัดปาลาวัน และซัมบาเลส ซึ่งหันไปทางทะเลจีนใต้ และจะทำให้ทหารอเมริกัน อยู่ใกล้กับพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้มากขึ้น เพื่อช่วยกองทัพฟิลิปปินส์


ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์ห้ามมีทหารต่างชาติปฏิบัติการในประเทศ ยกเว้นมีสนธิสัญญาหรือข้อตกลงพิเศษ นอกจากนี้ ยังห้ามทหารต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสู้รบในประเทศด้วย

—————

แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง

ภาพ: Reuters


ข้อมูลอ้างอิง:

straitstimes


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง