รีเซต

เทียบชัด! "โมลนูพิราเวียร์" กับ "ฟาวิพิราเวียร์" หมอมนูญ ชี้ชนิดไหนเจ๋งกว่ากัน

เทียบชัด! "โมลนูพิราเวียร์" กับ "ฟาวิพิราเวียร์" หมอมนูญ ชี้ชนิดไหนเจ๋งกว่ากัน
TNN ช่อง16
6 ตุลาคม 2564 ( 14:33 )
187

วันนี้ (6 ต.ค.64) นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เผยถึงยา "โมลนูพิราเวียร์" จะมาเป็นตัวเปลี่ยนเกมในการรักษาโรค "โควิด-19" เนื่องจากมีประสิทธิภาพกว่า "ยาฟาวิพิราเวียร์"

โดยหมอมนูญได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพ "ยาฟาวิพิราเวียร์" กับยา "โมลนูพิราเวียร์" ว่า ยาฟาวิพิราเวียร์มีประสิทธิภาพช่วยให้อาการดีขึ้น ลดความรุนแรงของโรค ลดจำนวนไวรัสในร่างกาย ลดการใช้ออกซิเจนได้ แต่ช่วยได้น้อยไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ช่วยลดการเสียชีวิตในคนไข้โรคโควิด-19

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คิดค้น "ยาฟาวิพิราเวียร์" รวมทั้งหลายประเทศไม่รับรองให้ใช้ยาตัวนี้ในการรักษาโรคโควิด-19 ด้วยเหตุผลให้ยากับไม่ให้ยา ผลการรักษาต่างกันน้อยมาก และยังได้ผลข้างเคียงจากยา

"ยาโมลนูพิราเวียร์" สามารถลดความเสี่ยงที่จะเข้านอนโรงพยาบาลได้ถึง 50% ผู้ติดเชื้อที่ไวรัสโควิด-19 ที่ได้รับยา "โมลนูพิราเวียร์" ไม่มีใครเสียชีวิตเลย ในขณะที่คนที่ได้รับยาหลอกกลับมีผู้เสียชีวิต 8 ราย จากจำนวนทั้งหมด 775 ราย มีผลข้างเคียงไม่ต่างจากยาหลอก ยานี้กำลังจะได้รับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจาก องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา

นพ.มนูญ ระบุต่อว่า ในอนาคตอันใกล้เมื่อเรามีอาการสงสัยติดเชื้อไวรัสโควิด รีบตรวจด้วยวิธี ATK ใช้ชุดตรวจเร็วด้วยตัวเอง เมื่อได้ผลบวก รีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจยืนยันด้วยการตรวจหารหัสพันธุกรรม RT-PCR ถ้ายืนยันบวกจริง ให้รีบรับประทาน "ยาโมลนูพิราเวียร์" 4 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง โดยเริ่มกินที่บ้านต่อเนื่อง 5 วัน ทั้งหมด 40 แคปซูล ต้องรีบกินเร็วภายใน 5 วันที่มีอาการ ถึงจะได้ผลดี

เดือนพฤศจิกายนนี้ "ยาโมลนูพิราเวียร์" จะเข้าประเทศไทย แพทย์ไทยคงจะเลือกไม่ใช้ "ยาฟาวิพิราเวียร์"

"ผมขอเสนอให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) หยุดผลิตและเลิกนำยาฟาวิพิราเวียร์เข้าจากต่างประเทศ มิฉะนั้นเราจะมียาฟาวิพิราเวียร์เหลือมากมาย เป็นการเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็น" นพ.มนูญ ให้ความเห็น

ยา "โมลนูพิราเวียร์" ในอนาคตจะนำเข้าจากประเทศอินเดีย ราคาคงไม่แพง เชื่อว่าอาจจะถูกกว่า "ยาฟาวิพิราเวียร์" ด้วยซ้ำ

สรุป : โมลนูพิราเวียร์ ยาต้านไวรัสตัวใหม่ชนิดเม็ด จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมในการรักษาโรค โควิด-19 ในประเทศไทย ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต


นอกจากนี้ นพ.มนูญ ยังอธิบายด้วยว่า บริษัทเมอร์คกำลังยื่นขอการรับรองโมลนูพิราเวียร์จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration) ให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน โมลนูพิราเวียร์จะเป็นยาต้านโควิดชนิดเม็ดตัวแรกที่ได้รับการรับรองจากทางการสหรัฐฯ ในสหรัฐฯไม่มีการรับรองให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ เหมือนบ้านเรา

โดยบริษัทเมอร์คศึกษาและทดสอบการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในกลุ่มคนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศลาตินอเมริกา ยุโรป และแอฟริการวม 775 คน มุ่งเน้นคนติดเชื้อที่ยังไม่ฉีดวัคซีน และคนที่มีความเสี่ยงเช่นคนสูงอายุ เบาหวาน โดยพบว่า ผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาแคปซูลโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม 4 เม็ดวันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 5 วัน ประมาณ 7.3% เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่พบผู้เสียชีวิตจากโควิดในกลุ่มตัวอย่างนี้ตลอดการรักษา 29 วัน ขณะที่กลุ่มคนติดเชื้อที่ได้ยาหลอก (Placebo) มีผู้ที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 14.1% และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด 8 ราย 

ข้อมูลนี้น่าสนใจ ผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ไม่มีใครเสียชีวิตเลย ในขณะที่คนที่ได้รับยาหลอกกลับมีผู้เสียชีวิต 8 ราย และยาโมลนูพิราเวียร์สามารถลดความเสี่ยงที่จะเข้านอนโรงพยาบาลได้ถึง 50% 

ยานี้มีผลข้างเคียงต่ำ ไม่แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ การรักษาต้องให้ยานี้เร็วที่สุดภายในเวลา 5 วันหลังเริ่มมีอาการ

ยาโมลนูพิราเวียร์ออกฤทธิ์ต่อไวรัสโควิดทั้งสายพันธุ์เดลตา แกมมา และมิวโดยทำให้รหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ผิดปกติ เวลาไวรัสก๊อปปี้ตัวเอง จะไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ เรายังไม่มีข้อมูลใช้ยานี้นานๆจะเกิดการดื้อยาหรือไม่

บริษัทเมอร์คตั้งเป้าผลิตยาให้ได้ สำหรับ 10 ล้านคนภายในปีนี้ โดยทางการสหรัฐฯ เตรียมสั่งจองโมลนูพิราเวียร์แล้วสำหรับ 1.7 ล้านคน ราคายา 700 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน เบื้องต้นบริษัทเมอร์คได้ทำสัญญากับฐานการผลิตยาหลายแห่งในประเทศอินเดีย เพื่อส่งยาโมลนูพิราเวียร์ราคาถูกให้กับประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

นอกจากบริษัทเมอร์คแล้ว ยังมีอีกหลายบริษัท เช่น ไฟเซอร์ และโรช ก็กำลังศึกษายาต้านไวรัสชนิดเม็ดเช่นเดียวกันในการรักษาผู้ป่วยโควิด

เมื่อไหร่ที่ประเทศไทยได้ยาโมลนูพิราเวียร์จากประเทศอินเดีย เราควรเลิกใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ทันที เพราะยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพเหนือกว่าแน่นอน


ข้อมูลจาก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC

ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง