รีเซต

กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5% พร้อมหั่นจีดีพีโตแค่ 1.8% พิษโควิดรอบ 3 ฉุดนักท่องเที่ยวเหลือ 3 แสน

กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5% พร้อมหั่นจีดีพีโตแค่ 1.8% พิษโควิดรอบ 3 ฉุดนักท่องเที่ยวเหลือ 3 แสน
ข่าวสด
23 มิถุนายน 2564 ( 15:39 )
144

 

กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย - นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. วันที่ 23 มิ.ย. 2564 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี พร้อมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือ 1.8% จากเดิม 3% และปี 2565 เหลือ 3.9% จากเดิม 4.7%

 

 

“การเร่งดำเนินมาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อฟื้นฟู รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบได้ตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ”

 

 

ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลง ในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำ จึงควรให้คงอัตราดอกเบี้ย และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุด

 

 

ขณะที่แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับลดลงจากเดิมปี 2564 คาดว่าอยู่ที่ 3 ล้านคน เหลือ 7 แสนคน และปี 2565 จาก 21.5 ล้านคน เหลือ 10 ล้านคน และอุปสงค์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกที่ 3 ด้านตลาดแรงงาน โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีความเปราะบางมากขึ้นและอาจฟื้นตัวได้ช้า ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิด แผลเป็นในตลาดแรงงาน

 

 

“ปัจจัยที่นำมาปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ได้แก่ อุปสงค์ในประเทศถูกกระทบจากการระบาดโควิด-19 รอบ 3 จำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่าที่คาดทั้งในและต่างประเทศ โดยมองไปในระยะข้างหน้า การระบาดอาจรุนแรงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ประสิทธิผลของวัคซีนน้อยลง และความต่อเนื่องการใช้มาตรการของภาครัฐ”

 

 

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก. กู้เงินล่าสุดและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยปรับประมาณการส่งออกปี 2564 เพิ่มเป็น 17.1% จากเดิม 10% และปี 2565 ปรับลดลงจาก 6.3% เหลือ 4.9%

 

 

นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงด้านต่ำ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ของการแข่งกันระหว่างการติดเชื้อกับการเร่งฉีดวัคซีน จากสถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส และจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งคณะกรรมการจะติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

 

 

ดังนั้นความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาครัฐจึงควรเร่งเบิกจ่ายมาตรการเยียวยาและมาตรการพยุงเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นต่อเศรษฐกิจและดูแลตลาดแรงงานในจุดที่มีความเปราะบางอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง

 

 

ขณะที่นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และมาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด ลดภาระหนี้ และสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดย ธปท. จะติดตามความคืบหน้าและประเมินประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่ออย่างใกล้ชิด

 

 

“หากผ่านช่วงระยะสั้นนี้ไปได้ สามารถฉีดวัคซีนและควบคุมการระบาดได้ ก็จะเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น การบริโภคปรับตัวดีขึ้นบ้างจากที่อั้นในช่วงที่ผ่านมา คนจะเริ่มเดินทางเที่ยวในประเทศ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาได้ เศรษฐกิจก็จะค่อยๆ ฟื้นตัว ลดความเปราะบางของภาคบริการและภาคครัวเรือนบางกลุ่มไปได้”

 

 

อย่างไรก็ดี สภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกที่สาม ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยเคลื่อนไหวทรงตัว สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง

 

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ การกระจายและประสิทธิภาพของวัคซีน สถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศที่อาจรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาแล้ว โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง