รีเซต

กนง. เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5% ยันจีดีพีปีนี้ที่ 0.7% ย้ำเศรษฐกิจผ่ายจุดต่ำสุดแล้ว อานิสงส์กระจายวัคซีนเร็ว

กนง. เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5% ยันจีดีพีปีนี้ที่ 0.7% ย้ำเศรษฐกิจผ่ายจุดต่ำสุดแล้ว อานิสงส์กระจายวัคซีนเร็ว
ข่าวสด
29 กันยายน 2564 ( 16:31 )
35
กนง. เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5% ยันจีดีพีปีนี้ที่ 0.7% ย้ำเศรษฐกิจผ่ายจุดต่ำสุดแล้ว อานิสงส์กระจายวัคซีนเร็ว

 

กนง. เอกฉันท์คงดอกเบี้ย - นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.5% ต่อปี พร้อมทั้งประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับคาดการณ์ในการประชุมครั้งก่อนที่ 0.7% และปี 2565 ที่ 3.9% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ระยะต่อไปมองว่าการกระจายวัคซีนที่ดีขึ้น และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เร็วกว่าคาดการณ์จะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

 

 

“ไตรมาส 3/2564 จะเป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจ เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่การกระจายวัคซีนที่เร็วและดีขึ้นมาก รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เร็วกว่าคาดการณ์ จะส่งผลดีให้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้าให้สามารถทยอยฟื้นตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง” นายทิตนันทิ์ กล่าว

 

 

ทั้งนี้ โจทย์สำคัญของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ คือ การดำเนินมาตราการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดย กนง. เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่มาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรเร่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเน้นการสร้างรายได้และเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ

 

 

ส่วนนโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว

 

 

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2564 นั้น มองว่ามีทั้งปัจจัยบวก อาทิ การอั้นของการอุปโภคบริโภคภาคประชาชนที่คาดว่าจะมีปริมาณมาก แต่ก็ยังมีปัจจัยลบที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การควบคุมการแพร่ระบาดที่อาจจะช้ากว่าที่คาด ดังนั้นกรณีที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวที่ 0.7% ก็ยังมีความไม่แน่นอนในช่วงไตรมาส 4/2564 กดดันอยู่ ด้านตลาดแรงงานมีแนวโน้มปรับดีขึ้น จากรายได้ของแรงงานในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

 

ขณะที่ปี 2565 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ ตามความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และการส่งออกจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์

 

 

นายทิตนันทิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดหลังจากนี้ ได้แก่ การระบาดและการกลายพันธุ์ของโควิด-19 มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด นโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ความเชื่อมั่นภาคเอกชนและภาคธุรกิจ และความต่อเนื่องของแรงสนับสนุนของมาตรการรัฐในด้านต่าง ๆ รวมถึงความคลี่คลายของปัญหาในภาคการผลิตที่ถูกกระทบจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และปัญหาเซมิคอนดักซ์เตอร์

 

 

สำหรับสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง โดยการกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี และภาคครัวเรือน ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ออกมาช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น

 

 

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นจากช่วงก่อนหน้าจากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง

 

 

อย่างไรก็ดี ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และจะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ รวมทั้งความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง