รีเซต

'ม.หอการค้า'​หั่นจีดีพี ปี'63 เหลือ ลบ9.4% เซ่นพิษโควิด

'ม.หอการค้า'​หั่นจีดีพี ปี'63 เหลือ ลบ9.4% เซ่นพิษโควิด
มติชน
3 สิงหาคม 2563 ( 14:37 )
90

นายธนวรรธน์​ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยระหว่างการแถลงประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 และธุรกิจเอสเอ็มอีหลังวิกฤติโควิด-19 ว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ ได้ปรับประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2563 คาดว่าจะติดลบอยู่ที่ลบ9.4% จากเดิมที่คาดว่า ลบ3.4% ถึง ลบ4.9% ส่วนตัวเลขส่งออกอยู่ที่ ลบ10.2% ปรับลดจากเดิมที่อยู่ที่ ลบ8.8% โดยเป็นการลงทุนติดลบ 8% เงินเฟ้อติดลบ 5% และจำวนนัก่องเที่ยวจากต่างประเทศติดลบมากถึง 82.3% ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าเสียหายประมาณ 2-3 ล้านล้านบาท จากปัจจัยการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการล็อกดาวน์ ค่าเงินผันผวน ความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และการเลิกจ้างงานในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

 

สำหรับ จีดีพีไตรมาส 2/2563 คาดว่าจะติดลบ 15% หนักกว่าไตรมาส 2/2541 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติการณ์​ต้มยำกุ้ง ที่ติดลบอยู่ที่ 12% นับเป็นตัวเลขที่ติดลบหนักสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ต้องเร่งรัดกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมโดยเฉพาะโครงการเดิมที่อยู่ คือ โครงการเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ควรให้น้ำหนักกับโครงการที่มุ่งเน้นการจ้างงาน คือ มาตรการสินเชื้อดอกเบี้ยต่ำ (โซฟโลน) วงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยผ่อนคลายเงื่อนไขข้อจำกัดเพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าถึงวงเงินสินเชื่อซอฟโลนได้มากขึ้น เพื่อประคองให้เกิดการจ้างงานต่อไป

 

“ทั้งนี้หากทีมเศรษฐกิจชุดใหม่มีการกระตุ้นให้เกิดการใช้และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้าถึง ซอฟโลน จากปัจจุบันที่มีการเข้าถึงเพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น แต่เชื่อว่าหากรัฐบาลมีการผ่อนคลายเงื่อนไขและข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น คาดว่าจะทำให้เกิดการเข้าถึงโซฟโลนประมาณ 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีกับการจ้างงานอีกด้วย” นายธนวรรธน์​ กล่าว

 

นายธนวรรธน์​ กล่าวต่อว่า หากในกรณีที่ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ไม่สามารถเข้ามาบริหารงาน และกระตุ้นนโยบายโดยเร่งด่วนได้ภายในช่วง 3 เดือนหลังจากนี้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว และซบเซา เบื้องต้นจากจำนวนแรงงานทั้งหมด 12.1 ล้านคน ในจำนวนนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสุ่มเสี่ยงที่จะมีการเลิกจ้าง 3.1 ล้านคน ซึ่งจากผลสำรวจผู้ประกอบการณ์ได้รับผลกระทบและมีแนวโน้มเลิกจ้างแรงงานประมาณ 1.93 ล้านคน ในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจทำให้เกิดการเลิกจ้างถึง 7 ล้านคน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง