แม้ครบ 90 วัน"ไทย"มีโอกาสเจรจา"ภาษี"ต่อ

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวภายหลังการเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวระดับสูงหรือ พศส.ปี 68 ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงเทพ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยว่า การเจรจาภาษีตอบโต้ไทยกับสหรัฐ แม้ในรอบแรกจะยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ และแสดงท่าทีว่าต้องการให้ไทยกลับไปปรับปรุงข้อเสนอเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายและข้อเรียกร้องเฉพาะที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้จะมีการเจรจาอย่างจริงจัง แต่เส้นทางสู่ข้อตกลงที่แท้จริงยังคงต้องใช้เวลาและกลยุทธ์ที่รอบคอบ โดยคาดว่าในอีกไม่กี่วันไทยจะกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง ผ่านช่องทางเทเลคอนเฟอเรนซ์
อีกประเด็นคือการประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัล ทรัมป์ ประกาศว่าจะไม่ขยายกรอบเวลา 90 วัน ที่ให้เวลาประเทศต่างๆ เข้ามาเจรจาหรือสิ้นสุดในวันที่ 9 ก.ค.นั้น น่าจะเป็นการประกาศสำหรับประเทศที่ไม่เข้ามาเจรจาให้รับทราบ แต่สำหรับประเทศที่เจรจาแล้ว อาจมีเงื่อนไขบางอย่างที่เกิดขึ้น เช่นการให้เสียภาษีร้อยละ 10 ไปพลางก่อนที่จะเจรจาสำเร็จ ซึ่งน่าจะมีประมาณ 100 ประเทศที่มีความคืบหน้าในการเจรจา
อย่างไรก็ตาม หากประเมินการเจรจาในทิศทางบวก และไทยถูกปรับภาษีตอบโต้เท่ากับเวียดนาม ร้อยละ 20 ภาวะการแข่งขันจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่หากไทยถูกเรียกเก็บสูงถึงร้อยละ 36 จะทำให้ไทยแข่งขันลำบาก ขณะเดียวกันก็ต้องดูการขึ้นภาษีของประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งทางการค้ากับไทยด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ได้ประเมินไว้ว่า หากสหรัฐปรับขึ้นภาษีตอบโต้ ร้อยละ 10-20 ส่งออกอาจขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 1.2 คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ราวร้อยละ 1.7 ภายใต้งบประมาณปี 2569 ที่สามารถใช้ได้ทันทีในเดือนตุลาคม และการเบิกจ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.75 แสนล้าน ทำได้อย่างรวดเร็ว แต่หากภาษีตอบโต้ถูกปรับไปถึงร้อยละ 36 ไม่เพียงส่งผลต่อผู้ส่งออกเท่านั้น แต่ยังสะเทือนไปถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย การส่งออกชะลอตัวและอาจทำให้เศรษฐกิจโตไม่ถึงร้อยละ 1.5
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
