รีเซต

กนง. เอกฉันท์คงดอกเบี้ยที่ 0.50% ต่อปี พยุงเศรษฐกิจอ่วมพิษโควิด-19 ระลอก 3 คาดไตรมาส 2/64 โคม่าสุด

กนง. เอกฉันท์คงดอกเบี้ยที่ 0.50% ต่อปี พยุงเศรษฐกิจอ่วมพิษโควิด-19 ระลอก 3 คาดไตรมาส 2/64 โคม่าสุด
ข่าวสด
5 พฤษภาคม 2564 ( 16:49 )
71
กนง. เอกฉันท์คงดอกเบี้ยที่ 0.50% ต่อปี พยุงเศรษฐกิจอ่วมพิษโควิด-19 ระลอก 3 คาดไตรมาส 2/64 โคม่าสุด

 

ข่าววันนี้ นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมากจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศและแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว โดยเห็นว่าโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ การจัดหาและการกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทันการณ์

 

 

ทั้งนี้ เบื้องต้นได้มีการประเมินว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 จะมีผลกระทบมากกว่าการระบาดระลอกที่ 2 แต่น้อยกว่ารอบแรกที่ระบาดเมื่อปี 2563 แม้ว่าผลกระทบในรอบปัจจุบันจะน้อยกว่าร้อยแรก แต่สายป่านของครัวเรือนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีจำกัดลงเรื่อยๆ จึงต้องมาดูว่าผลกระทบจากการระบาดในรอบปัจจุบันจะส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะถูกกระทบชัดเจนในไตรมาส 2/2564 แต่หากจัดหาวัคซีนได้เร็ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะทำได้ดีขึ้น

 

 

สำหรับแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยมาจากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่ผลดีต่อการจ้างงานในตลาดแรงงานโดยรวมยังมีจำกัด ขณะที่มาตรการเยียวยาและมาตรการการเงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะมีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่แรงกระตุ้นภาครัฐในปีงบประมาณ 2565 อาจลดลงบ้างจากการเร่งเบิกจ่าย พ.ร.ก. กู้เงินในปีงบประมาณปัจจุบัน

 

 

ส่วนความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ได้แก่ 1. การกระจายและประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 และ 2. การฟื้นตัวที่แตกต่างกันและไม่ทั่วถึง ทำให้ตลาดแรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น และส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนและการบริโภคภาคเอกชน 3. ฐานะการเงินที่เปราะบางเพิ่มเติม โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงตามรายได้ที่ลดลง ขณะที่ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ลดลง ทำให้ความสามารถในการรองรับค่าใช้จ่ายได้ลดลง

 

 

ขณะที่มาตรการด้านการเงินที่สำคัญ คือ การกระจายสภาพคล่องไปยังธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะมาตรการสินเชื่อและการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยลดภาระทางการเงินได้อย่างตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำและยังสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

 

 

ทั้งนี้ ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยควรเร่งมาตรการจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการการคลังควรรักษาความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นทางการคลังและลดผลกระทบของการระบาด รวมทั้งสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ออกมาเพิ่มเติมควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด ลดภาระหนี้และสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้

 

 

โดย กนง. จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ สถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ การกระจายและประสิทธิผลของวัคซีน ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาแล้ว โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

 

 

อย่างไรก็ดี ได้มีการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจ ตามคาดการณ์การฉีดวัคซีนเป็น 3 กรณี หลังมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 โดย กรณีที่ 1. หากมีการจัดหาและกระจายวัคซีนได้ 100 ล้านโดสในปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ที่ระดับ 2% นักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.2 ล้านคน และในปี 2565 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 4.7%

 

 

กรณีที่ 2. หากจัดหาและกระจายวัคซีนได้ตามแผนเดิม คือ ฉีดวัคซีนได้ 64.6 ล้านโดส จะส่งผลให้จีดีพีในปี 2564 ขยายตัว 1.5% และปี 2565 ขยายตัว 2.8% ส่วนกรณีที่ 3. จัดหาและกระจายวัคซีนได้ช้ากว่าแผนเดิม หรือน้อยกว่า 64.6 ล้านโดสในปีนี้ จะส่งผลให้จีดีพีปี 2564 ขยายตัวเพียง 1% เท่านั้น และปี 2565 ขยายตัว 1.1%

 

 

“ได้มีการเล่าแนวโน้มเศรษฐกิจในกรณีต่างๆ ให้ที่ประชุม กนง. ฟัง ซึ่งมีการประเมินไว้หลายกรณี แต่ก็มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจลงในทุกกรณี โดยผลกระทบระยะสั้นหลักๆ มาจากการระบาดของโควิด-19 ส่วนปัจจัยกดดันในระยะต่อไปมาจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ ซึ่งในภาพรวมพบว่า การฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้นจะสามารถช่วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ถึง 3-5.7% ในช่วงปี 2564-2565 ดังนั้นการจัดหา กระจายและประชาชนพร้อมใจกันฉีดวัคซีน จนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็ว จะช่วยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้มาก” นายทิตนันทิ์ กล่าว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง