รีเซต

โควิดฉุดเศรษฐกิจไทยร่วง! นักวิเคราะห์เรียงแถวหั่นจีดีพีต่ำติดดิน

โควิดฉุดเศรษฐกิจไทยร่วง! นักวิเคราะห์เรียงแถวหั่นจีดีพีต่ำติดดิน
TNN ช่อง16
23 สิงหาคม 2564 ( 15:09 )
132

เศรษฐกิจไทยที่เคยคาดหวังกันว่าจะเริ่มทยอยฟื้นตัวกลับมาได้ในปีนี้ กลับต้องมาบอบช้ำอีกครั้ง หลังโดนโควิดระลอกใหญ่ซัดกระหน่ำ สะ ท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งเป็นหลักหมื่นราย และไม่มีท่าทีว่าจะลดลง ประกอบกับการกลายพันธุ์ของโควิดทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น จนเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข เป็นผลให้รัฐบาลตัดสินใจล็อกดาวน์ในพื้นที่เสี่ยง 29 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด การยกระดับมาตรการการควบคุมดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศให้สะดุดหยุดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้บรรดาหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน พร้อมใจกันเรียงหน้าหั่นจีดีพีลงกันเป็นทิวแถว 


เริ่มจาก  SCB EIC ที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 64 ลงจากเดิม 1.9% มาที่ 0.9% หลังการระบาดของโควิดในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และขยายตัวในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคค่อนข้างมาก ทั้งจากมาตรการล็อกดาวน์ ความกังวลของประชาชนในการใช้จ่ายภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น และแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกขึ้น ขณะที่เม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐที่ออกมา ยังไม่เพียงพอและทั่วถึง จึงช่วยบรรเทาผลกระทบได้เพียงบางส่วนเท่านั้น


โดยการระบาดในประเทศที่อยู่ในภาวะวิกฤติ และมีประสิทธิภาพน้อยลงในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดทำให้ EIC คาดว่าจะต้องใช้เวลาถึงช่วงสิ้นเดือนพ.ย. ที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะปรับลดลงต่ำกว่า 100 ราย/วัน หรือใช้เวลากว่า 8  เดือนนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดระลอกใหม่ในเดือนเม.ย.โดยมีแนวโน้มสร้างความเสียหายต่อการบริโภคภาคเอกชนกว่า 7.7 แสนล้านบาท หรือราว 4.8% ของจีดีพี


ส่วนแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ยังเป็นการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าการส่งออกไทยปีนี้จะเติบโต 15% แต่ต้องจับตาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะปัญหา supply disruption ที่เกิดจากการปิดโรงงานจากการระบาดทั้งในไทยและประเทศอื่น


สอดรับกับมุมมองของ "ศูนย์วิจัยกรุงศรี" ที่ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้อีกรอบ โดยล่าสุดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 1.2% จากคาดการณ์เดิมที่ 2% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบหนัก และไม่รู้ว่าการระบาดจะสิ้นสุดลงเมื่อไร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย


จากประมาณการล่าสุดของศูนย์วิจัยกรุงศรี มองว่าในปีนี้อาจมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพียง 2.1 แสนคน จากคาดการณ์เดิม 3.3 แสนคน ส่วนปีหน้าเคาดว่าจะมีประมาณ 5.5 ล้านคน จากคาดการณ์เดิม 8 ล้านคน


ขณะที่ KKP Research ประเมินว่า การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ของไทย  ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างน้อย 3 เดือน กว่าสถานการณ์จะบรรเทาความรุนแรงลง ซึ่งจะกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ จากการบริโภคและการลงทุนที่จะลดลงในช่วงไตรมาส 3 และส่งผลให้การเติบโตของการบริโภคทั้งปีติดลบ กระทบต่อการคาดการณ์จีดีพีปี 2564 จากการที่เคยมองไว้เติบโต 1.5% เหลือเพียง 0.5%    


ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีเลวร้าย หากจำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ที่ยาวนานกว่า 3 เดือน หรือต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่มีข้อจำกัดมากขึ้น เศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบเพิ่มเติมอีก 1.3% และทำให้เศรษฐกิจในปีนี้ หดตัวลง 0.8%

 

ทางฝั่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 64 ของไทยลงเช่นกัน คาดว่าจะติดลบ  0.5% เดิมอยู่ที่ 1%  จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมากกว่าที่ประเมินไว้ในเดือนก.ค. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่จำนวนเคสผู้ติดเชื้อรายวันอาจยังไม่ผ่านจุดสูงสุด ทำให้มาตรการล็อกดาวน์อาจใช้ระยะเวลายาวขึ้น 


ขณะที่ความเสี่ยงที่เป็นประเด็นติดตามยังอยู่ที่การควบคุมการแพร่ระบาดในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่นอกจากอาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออกแล้ว ยังอาจทำให้สินค้าในประเทศขาดตลาดในบางช่วงจังหวะเวลา


นอกจากนี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยในปีนี้อาจลดลงอยู่ที่ราว 1.5 แสนคน 

 

ด้านสำนักวิจัยธนาคารชีไอเอ็มบีไทย หรือ CIMBT ก็ไม่น้อยหน้า ได้ปรับลดการคาดการณ์ที่ให้ไว้ในเดือนกรกฎาคมที่ 1.3% ลงเหลือ 0.4% ในปี  64  และ จาก 4.2% เหลือ 3.2% สำหรับปี  65 แต่หากสถานการณ์การระบาดยืดเยื้อกระทบภาคบริการในประเทศ และส่งผลต่อภาคการผลิตที่อาจลดลงจากปัญหาคนงานติดเชื้อจนทำให้การส่งออกลดลงจากที่คาดแล้ว เศรษฐกิจไทยมีโอกาสติดลบได้ถึง -1.1% ในปีนี้และอาจไม่ขยายตัวเลยในปีหน้า


ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย มองโควิดลากกยาว และมีผลต่อเศรษฐกิจถึงเดือน ก.ย. จึงปรับจีดีพี  มาอยู่ที่ 0.5-1.3% จากที่ประ เมินไว้ในเดือน พ.ค. ขยายตัว 0.8-1.6%   ขณะที่อัตราการขยายตัวในปี’65 ธนาคารยังคงประมาณการเติบโตอยู่ที่ 3.6%  คาดว่าส่งออกน่าจะโตมาก กว่า 10%   และปีหน้า โต 7-8% คาดหวังว่าจะมีจำนวนวัคซีนที่มากเพียงพอและกระจายคลุมทั่วประเทศ เพื่อควบคุมการระบาดได้จะทำให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้


ด้านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ประกาศหั่นจีดีพีไทยติดลบ 1.5% ถึง 0.0% จากเดิม 0.0 % ถึง 1.5% ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ แม้ส่งออกโต 10-12% จากเดิมคาด 8-10% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดี  แต่ต้องระวังการติดเชื้อในภาคแรงงานอาจกระทบกำลังผลิตเพื่อการส่งออกและคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่้ 1-1.2%


“เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยปีที่ 2 หลังรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด ยอดผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น แม้จะล็อกดาวน์มาแล้ว 14 วัน ล่าสุด ขยายล็อกดาวน์ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม รวม 29 จังหวัด กระทบกับเศรษฐกิจโดยตรง แผนเปิดประเทศยากขึ้น เกิดลูกหนี้ภายใต้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 1.89 ล้านบัญชี ยอดเงินประมาณ 2 ล้านล้านบาท ที่เสี่ยงจะเกิดหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เสถียรภาพของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยง หนี้ครัวเรือนสูงกว่า 90% ต่อจีดีพี"


ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)  ลดจีพีดีลงเหลือ 0.7 - 1.2%จากเดิมคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 1.5 - 2.5% หลังจากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ยังทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่องยอดผู้ติดเชื้อทะลุ 2 หมื่นรายต่อวัน


การกระจายวัคซีนยังล่าช้า ซึ่งเห็นว่าต้องควบคุมโควิดไม่ให้เกิดการระบาดในพื้นที่ฐานการผลิตและการท่องเที่ยวและในต่างประเทศต้องไม่ระบาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศหลักจนใช้มาตรการล็อกดาวน์ ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และที่สำคัญต้องกระจายฉีดวัคซีนให้ได้ 85ล้านโดสในปีนี้  ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมได้ตามกรณีฐานอาจเห็นจีดีพีทั้งปีขยายตัวต่ำกว่า 0.7%


ฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หั่นเป้าจีดีพีปี 64ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมาเหลือเพียง 0.7% จากเดิม 1.8%  เนื่องจากปีนี้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด มากกว่าคาด โดยโจทย์สำคัญคือ ต้องเร่งควบคุมการระบาดและกระจายวัคซีน ฟื้นความเชื่อมั่นประชาชน เพื่อกิจกรรมเศรษฐกิจและให้รายได้กลับมาขยายตัว


อย่างไรก็ตามประมาณการอยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า หากการแพร่ระบาดโควิด-19 ควบคุมได้และทยอยผ่อนคลายมาตรการต้นไตรมาส 4 ปี 64 จะทำให้นักท่องเที่ยวปี 64 มีจำนวน 1.5 แสนคน และปี 65 มีจำนวน 6 ล้านคน แต่หากโควิด-19 ยืดเยื้อและผ่อนคลายมาตรการได้ปลายปี จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 1 แสนคน และปี 65 เหลือเพียง 2 ล้านคนจีดีพีปี 65 โต 3.7%


ฝั่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ไม่ตกเทรนด์ลดจีดีพีไทยปีนี้ 64 เหลือ 1.3 % จากเดิม 2.3% จากผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ สวนทางการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจจึงขยับเป้าส่งออกเป็น 16.6 % จากเดิม 11 % เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิดตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 ปี 64 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยการเดินทางระหว่างประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาในไทย  ส่วนปีหน้ามองว่าจีดีพีโต 4-5 % ตามการฟื้นตัวของท่องเที่ยวหลังโควิดคลี่คลายลง


มุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทย ไม่เพียงแต่มาจากหน่วยงานในประเทศเท่านั้น เพราะองค์การด้านการเงินในต่างประเทศ ก็เห็นถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเช่นกัน โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย(เอดีบี) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ เหลือเพียง 2.0% ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ต่ำที่สุดของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)  จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 3.0% โดยระบุว่า การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุน รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวของไทย


ส่วนธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ ก็หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต 2.2% จากเดิมคาดขยายตัวได้ 3.4% แม้จะมองการส่งออกดีขึ้น และมีมาตร การเยียวยาของภาครัฐของพยุงอยู่ แต่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ จะมีแค่เพียง 6 แสนคน


การระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ที่ทำให้การติดเชื้อรุนแรงและลากยาวกว่าคาดการณ์ ผสมโรงกับการล็อกดาวน์ที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจจะยืดเยื้อออกไป ขณะที่ประสิทธิภาพของวัคซีนและการเร่งฉีดวัคซีน ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ส่งผลให้ความเสี่ยงจากโควิด ยังเป็นความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจไทยต่อไป


ขณะที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังบอดสนิท ทั้งการบริโภคในประเทศ และการท่องเที่ยวที่ยังซบเซา ส่วนภาคส่งออกที่จะหวังจะเป็นฟันเฟืองตัวสุดท้ายที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ก็ยังมีโอกาสพลิกผันได้ตลอดเวลา ตามสถานการณ์โควิดและการค้าทั่วโลก


ดังนั้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ คงยังต้องพึ่งมาตรการทางการคลังมาเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป โดยเฉพาะเม็ดเงินภายใต้พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ที่อาจจะต้องนำมาออกมาใช้ในปีนี้ให้เร็วขึ้นและมากขึ้นกว่าที่วางแผนไว้เดิม แม้จะมีประเด็นความเป็นห่วงเรื่องภาระหนี้สา ธารณะ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ การใช้เงินให้รวดเร็วและตรงจุด ในการประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้รอดปลอดภัย ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้...


ข่าวที่เกี่ยวข้อง