รีเซต

สิทธิลา: หญิงไทย VS ชายแท้ ผู้หญิงได้สิทธิลาไม่เท่าผู้ชายจริงหรือ ?

สิทธิลา: หญิงไทย VS ชายแท้ ผู้หญิงได้สิทธิลาไม่เท่าผู้ชายจริงหรือ ?
TNN ช่อง16
15 พฤษภาคม 2567 ( 12:23 )
43
สิทธิลา: หญิงไทย VS ชายแท้ ผู้หญิงได้สิทธิลาไม่เท่าผู้ชายจริงหรือ ?

นี่เป็นประโยคบางส่วนที่เกิดการถกเถียงขึ้นในสังคมออนไลน์ของไทย ถึงประเด็นเรื่อง สิทธิการลาต่าง ๆ ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง โดยเฉพาะเมื่อมีการพูดถึงเกี่ยวกับสิทธิการลาของผู้หญิง ทุกครั้ง จะต้องพูดถึงความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างทางเพศ ที่หลายคนมองว่า การเพิ่มวันลาของผู้หญิง จะไปกระทบและสร้างภาระงานให้แก่ผู้ชาย 


---ลาคลอด 180 วัน หวั่นผู้หญิงแห่ท้อง—


หนึ่งในข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นการใช้สิทธิลาของผู้หญิง นั่นคือ การขยายสิทธิการลาคลอด 180 วัน ที่ผู้ชายและผู้หญิงบางส่วนในสังคมโซเชียลมองว่า การขยายสิทธิลาคลอด 180 วันให้แก่ผู้หญิง จะกลายเป็นปัญหาในอนาคตต่อเพื่อนร่วมงาน เพราะต้องมานั่งรับภาระทดแทนผู้หญิงที่ลาคลอดไป เสี่ยงให้นายจ้างเลือกที่จะไม่จ้างผู้หญิงเข้าทำงาน เพราะกังวลว่าจะมีประสิทธิภาพในการทำงานได้ไม่มากพอเท่าผู้ชาย 


บางคนถึงขั้นกล่าวว่า การให้สิทธิลาคลอดแก่ผู้หญิงถึง 180 วันนั้น จะทำให้ผู้หญิงแห่กันไปตั้งครรภ์ เพื่อใช้สิทธิลาตามกฎหมาย และภาระงานของพวกเธอ จะต้องไปตกอยู่กับเพื่อนร่วมงาน บางคนถึงขั้นบอกว่า ผู้หญิงจะตั้งท้องหลายครั้ง เพื่อหวังใช้สิทธิลาดังกล่าว 


ขณะเดียวกัน สังคมบางส่วนต่างมองว่า การเพิ่มวันลาคลอดให้แก่ผู้หญิง จะส่งผลประโยชน์ให้กับประเทศมากกว่า โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญกับอัตราการเกิดต่ำ และก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 

ผลสำรวจของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาสังคมและธุรกิจ ปี 2567 พบว่า 69.4% ของคนงานโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัด ยังไม่มีแผนมีลูกในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยให้เหตุผลว่า กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย กลัวเงินไม่พอค่าคลอดลูก ค่าเลี้ยงลูก 


นอกจากนี้ ยังพบว่า แรงงานหญิง 78.2% ใช้สิทธิลาคลอด 90-98 วัน, 14.5% ลาเพียง 30-59 วัน โดยให้เหตุผลว่า ต้องรีบกลับมาทำงานเพราะต้องการมีรายได้ โอทีเพิ่ม ตามด้วยกลัวถูกลดโบนัส 


จากตัวเลขดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ผู้หญิงบางส่วนยังต้องรับผิดชอบงานของตนเองไปด้วย แม้จะมีลูก เพราะมีปัจจัยเรื่องความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งผลให้ผู้หญิงที่ตกอยู่ในสถานะนี้ ต้องแบกภาระหนักขึ้น สะท้อนไปยังตัวเลขจากผลสำรวจที่ถามถึงสวัสดิการภาครัฐ พบว่า 96.5% เห็นด้วยกับการขยายสิทธิวันลาคลอดเพิ่มจากเดิม 98 วัน เป็น 180 วัน และอีกกว่า 93.7 % เห็นด้วยกับการให้สิทธิพ่อลาได้ 30 วัน เพื่อช่วยเลี้ยงดูลูก 


อย่างไรก็ตาม วันที่ 6 มีนาคม 2567 สภาฯ มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับพรรคก้าวไกล เสนอโดย วรรณวิภา ไม้สน ที่ขอให้แก้ไขขยายสิทธิลาคลอดจาก 98 วัน เป็น 180 วัน 


---ลาปวดประจำเดือนจำเป็นแค่ไหน---


อีกหนึ่งสิทธิลาของผู้หญิงที่กำลังถกเถียงอยู่ในสังคม คือ การผลักดันให้ผู้หญิงสามารถใช้สิทธิลาปวดประจำเดือนได้ โดยแยกจากการลาป่วย 30 วัน ตามกฎหมาย 


“ผู้หญิงที่มีประจำเดือน แล้วปวดประจำเดือนควรจะแยกระหว่างวันลาป่วยธรรมดา กับวันลาปวดประจำเดือน เพราะถ้าสมมติว่า เรานับรวมเป็นวันลาป่วยธรรมดา ก็จะทำให้แรงงานหญิงจะไม่ได้รับสิทธิในการคุ้มครองวันลา” พุธิตา ชัยอนันท์ สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวประชาไท เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ถึงประเด็นเสนอให้มีกฎหมายรองรับและคุ้มครองเรื่องการลาปวดประจำเดือน 


ชมคลิปเต็ม: https://x.com/prachatai/status/1788875529346838778


คลิปดังกล่าว ทำให้ผู้คนต่างถกเถียงอย่างหนักในทวิตเตอร์ บางส่วนมองว่า เป็นการเอาเปรียบผู้ชายมากเกินไป เพราะผู้หญิงมีประจำเดือนทุกเดือน หากจะต้องลางานทุก 3 วันต่อเดือนด้วยเหตุผลดังกล่าว จะเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับเพื่อนร่วมงานได้ โดยฉพาะผู้ชาย พร้อมตั้งคำถามว่า จะสามารถแยกแยะได้อย่างไรว่า ผู้หญิงปวดประจำเดือนจริง ๆ ไม่ได้แกล้งทำ ชี้ว่า การเรียกร้องแบบนี้ จะเป็นการที่ทำให้นายจ้าง เลือกที่จะไม่จ้างผู้หญิงทำงานได้ 


อีกฟากหนึ่ง ที่สนับสนุนนโยบายดังกล่าว บอกว่า การให้ผู้หญิงสามารถลางาน ช่วงที่มีอาการปวดประจำเดือนได้ เป็นสิทธิที่ควรได้รับ เพราะร่างกายผู้หญิง และผู้ชายแต่ละคนไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งผู้หญิงด้วยกันเอง ความเจ็บปวดที่มีก็แตกต่างกัน ไม่สามารถนำเอาร่างกายของใครคนใดคนหนึ่งไปเปรียบเทียบได้ 


---ผู้หญิงสิทธิลาเยอะกว่าผู้ชาย ?---


จากการเรียกร้องสิทธิลาคลอด และลาปวดประจำเดือนทำให้ถูกมองว่า ผู้หญิงจะมีสิทธิลาเยอะกว่าผู้ชายมากเกินไป เพราะหากผู้หญิงคนหนึ่งใช้สิทธิวันลาคลอด 180 วัน กอปรกับใช้วันลาปวดประจำเดือนร่วมด้วยอย่างน้อย 3 วันต่อเดือน 1 ปี ก็จะเท่ากับ 36 วัน ยังไม่รวมลาพักร้อน ลากิจ ลาป่วย ผู้หญิงจะมีวันลาไปแล้วทั้งหมด 216 วันต่อปี 


จำนวนวันลารวมทั้งหมด ทำให้หลายคนมองว่า ผู้หญิงมีสิทธิลางานได้เกือบ 1 ปี เป็นการเอาเปรียบทั้งนายจ้าง และเพื่อนร่วมงานอย่างมาก หากมีกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นจริง และแนะนำว่า หากต้องการลาเพราะปวดประจำเดือน ให้ไปใช้สิทธิลาป่วย ลาพักร้อน หรือ ลากิจแทน 


ขณะที่ ฝั่งที่สนับสนุนเรื่องสิทธิลาคลอด และลาปวดประจำเดือน ทั้งชายและหญิงต่างมองว่า ผู้ที่เห็นต่างไม่มีความเข้าใจในสรีระของผู้หญิงอย่างแท้จริง พร้อมกล่าวว่า การที่มีสิทธิลาคลอด 180 วัน และสิทธิลาประจำเดือน ไม่ได้หมายความว่า ผู้หญิงทุกคนจะใช้สิทธิลาดังกล่าว เฉกเช่นเดียวกับการลาอุปสมบทของผู้ชายที่สามารถลาได้สูงสุดถึง 120 วัน 


---เทียบสิทธิวันลาชายหญิงไม่เท่าเทียมกัน ?--- 


หากเข้าไปดูตามกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ณ ปัจจุบัน ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้เพียงแค่ 98 วัน โดยให้นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลา และพนักงานจะได้รับค่าจ้างจากองค์กรไม่เกิน 45 วันเท่านั้น 


เมื่ออ้างอิงจากข้อกฎหมายดังกล่าว จะพบว่า หญิงจะมีวันลามากกว่าชายอย่างน้อย 38 วัน โดยแบ่งเป็นวันลาป่วย 30 วัน, ลากิจอย่างน้อย 3 วัน, ลาพักร้อน (อายุงานมากกว่า 1 ปี) ไม่ต่ำกว่า 6 วัน, ลาคลอดสูงสุด 98 วัน และลารับราชการทหาร 60 วัน ดังภาพ Infographic ที่แนบไว้ให้ด้านล่าง 



แม้กฎหมายจะระบุสิทธิวันลาของแรงงานไว้เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง หากพิจารณาสิทธิข้าราชการ และนโยบายของบริษัทส่วนใหญ่ร่วมด้วยจะพบว่า ข้าราชการชายสามารถใช้สิทธิลาอุปสมบทได้สูงสุดถึง 120 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็มวันตามเดิม ส่วนชายและหญิงที่นับถือศาสนาอิสลามสามารถลาเพื่อไปประกอบพิธีฮัจน์ได้สูงสุด 45 วัน 


นั่นหมายความว่า หากรวมสิทธิลาอันพึงได้รับจากทั้งทางกฎหมายแรงงาน และสิทธิข้าราชการ หรือ สวัสดิการของบริษัท ไม่นับรวมหยุดประจำปี และวันหยุดเสาร์อาทิตย์ จะพบว่า ผู้ชายมีสิทธิลาได้ถึง 144-219 วัน ขณะที่ ผู้หญิงมีสิทธิลาทั้งหมด 182 วัน 


---ส่องนโยบายลาคลอด-ลาปวดประจำเดือนต่างประเทศ—


การเรียกร้องสิทธิลาให้แก่ผู้หญิงไม่ใชเรื่องใหม่ เพราะหลายประเทศทั่วโลก ได้ดำเนินนโยบายเหล่านี้ไปนานมากแล้ว โดยเฉพาะสิทธิลาคลอด และลาปวดประจำเดือน 


ประเทศที่ให้สิทธิลาคลอดยาวนานที่สุด คือ สวีเดน ผู้หญิงสามารถลาคลอดได้ถึง 69 สัปดาห์ หรือประมาณ 483 วัน และยังได้รับเงินรายวันราว 845-3,772 บาท ส่วนอันดับที่ 2 คือ บัลแกเรีย ผู้สามารถลาคลอดได้ 58.6 สัปดาห์ หรือราว 412 วัน พร้อมกับได้รับเงินค่าจ้าง 90% จากเงินเดือนปกติ ส่วนอันดับที่ 3 ได้แก่ สหราชอาณาจักร ที่ให้สิทธิลาคลอดได้สูงสุดถึง 52 สัปดาห์ หรือราว 364 วัน พร้อมกับได้รับเงินค่าจ้าง 90% จากเงินเดือนปกติ 


ส่วนการลาปวดประจำเดือน มีหลายประเทศที่ให้ผู้หญิงสามารถลาหยุดได้ ด้วยเหตุปวดประจำเดือน โดยแนวคิดเรื่องการลาปวดประจำเดือนมีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1922 ที่รัสเซียได้กำหนดให้มีนโยบายลาปวดประจำเดือน ก่อนที่จะถูกยกเลิกไปหลังดำเนินการมานาน 5 ปี เนื่องจากเกิดการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานผู้หญิง 


ต่อมา หลังจากพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นออกกฎหมายบังคับใช้ ให้ผู้หญิงสามารถลาปวดประจำเดือนในปี 1947 เพื่อเป็นสิทธิให้ผู้หญิงวัยทำงานทุกคน 


ถึงจะมีกำหนดไว้ในกฎหมายแรงงาน แต่ปัจจุบัน ผู้หญิงญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่สามารถลางาน เพราะปวดประจำเดือนได้ 


ขณะที่ อินโดนีเซียผ่านกฎหมายในปี 2003 อนุญาตให้ผู้หญิงลางาน เพราะปวดประจำเดือน 2 วันต่อเดือน โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าได้ ส่วนไต้หวันอนุญาตให้ผู้หญิงลาปวดประจำเดือนได้ 3 วันต่อปี โดยไม่หักจากการลาป่วย 30 วัน 


ล่าสุด ปี 2023 สเปนกลายเป็นประเทศแรกในยุโรปที่อนุญาตให้ผู้หญิงลางาน 3 วันในช่วงที่มีประจำเดือนได้ และสามารถลาได้สูงสุด 5 วัน หากมีอาการปวดประจำเดือน 


---หลายหน่วยงานเดินหน้าเพิ่มสิทธิลาผู้หญิง ไม่รอแก้กฎหมาย—


ถึงกฎหมายยังไม่มีการแก้ไข เพื่อเพิ่มสิทธิลาให้กับผู้หญิงตามข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคม แต่หน่วยงานหลายแห่ง ตลอดจนบริษัทใหญ่ ๆ เลือกที่จะเพิ่มสวัสดิการให้พนักงานล่วงหน้า ก่อนที่จะมีการแก้ไขกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น ‘ศรีจันทร์’ แบรนด์เครื่องสำอางของไทยที่มีอายุมานานกว่า 70 ปี ประกาศเพิ่มสวัสดิการให้พนักงานสามารถลาคลอดได้สูงสุด 180 วัน โดยจะได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน พร้อมกับอนุญาตให้พนักงานชายสามารถลาเพื่อไปดูแลภรรยาที่ตั้งครรภ์ หรือ คลอดบุตรได้ เป็นเวลา 30 วัน 


ขณะที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกประกาศเมื่อปีที่แล้วว่า อนุญาตให้นักศึกษาสามารถใช้สิทธิลา เมื่อมีอาการปวดประจำเดือนได้ โดยไม่กระทบการเรียนการสอน ซึ่งการประกาศดังกล่าว สร้างความฮือฮาให้กับสังคม เพราะมีไม่บ่อยนักที่จะมองว่า การปวดประจำเดือนไม่ใช่เรื่องปกติอีกต่อไป แต่ก็เป็นการเจ็บป่วยทางร่างกายอย่างหนึ่ง 


ท้ายที่สุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องสิทธิลาคลอดเพิ่ม หรือ สิทธิลาปวดประจำเดือน ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตาต่อไปอีกนานแสนนาน รวมถึงกับต้องสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายว่า การให้สิทธิเหล่านี้แก่ผู้หญิงจำเป็นมากน้อยแค่ไหน และจะสร้างผลประโยชน์อย่างไรให้กับประเทศชาติ รวมถึงถ้าหากเราละเลยที่จะแก้ไขปัญหานี้ไป จะเกิดผลเสียอย่างไรกับเราในอนาคตภายภาคหน้า  


แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 

ข้อมูลอ้างอิง: 

https://www.mol.go.th/employee/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99

https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/31/iid/257103

https://legal.labour.go.th/images/law/Protection2541/labour_protection_2541_new62.pdf

https://personnel.labour.go.th/attachments/article/1179/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3.pdf

https://velocityglobal.com/resources/blog/paid-maternity-leave-by-country/

https://www.cliffedekkerhofmeyr.com/en/news/publications/2023/Practice/Employment/employment-law-alert-2-may-2023-the-concept-of-menstrual-leave.html

https://medicalxpress.com/news/2022-05-japan-zambia-paid-menstrual.html

https://www.marketingoops.com/news/biz-news/srichand-employee-welfare-benefit/

https://www.hfocus.org/content/2024/03/29929


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง