รีเซต

รัฐตรึงดีเซลรับมือน้ำมันโลกพุ่ง พยุงเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติซ้อนวิกฤติ

รัฐตรึงดีเซลรับมือน้ำมันโลกพุ่ง  พยุงเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติซ้อนวิกฤติ
TNN ช่อง16
11 ตุลาคม 2564 ( 01:49 )
130
รัฐตรึงดีเซลรับมือน้ำมันโลกพุ่ง  พยุงเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติซ้อนวิกฤติ

สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งไม่หยุด จากเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว หลังจากโควิดคลี่คลาย ผนวกกับการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของซีกโลกตะวันตก และผลกระทบต่อเนื่องจากพายุ เฮอริเคนพัดถล่มในสหรัฐอเมริกาที่ทำให้ฐานการผลิตน้ำมันต้องหยุดชะงัก  


ผสมโรงกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (โอเปกพลัส) คงมติการปรับเพิ่มการผลิตที่ 4 แสนบาร์เรลต่อวันสำหรับเดือน พ.ย. 64 ในการประชุมครั้งล่าสุด หนุนราคาน้ำมันดิบถึบตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบตลาดเวสต์เท็กซัสอยู่ที่ 78.93 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา


ขณะที่น้ำมันดิบตลาดเบรนต์อยู่ที่ 82.56 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 ปี ส่วนน้ำมันดิบตลาดดูไบอยู่ที่ 80.70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ณ วันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา 


ซึ่งราคา ณ ปัจจุบันเริ่มมีความแตกต่างจากปี 63 ที่ทั่วโลกและไทยเผชิญโควิดซัดกระหน่ำราคาน้ำมันช่วงนั้นหล่นวูบแตะระดับ   40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล 


จากปี 62 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด  ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวในกรอบ 40-60  ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล  จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเดือนก.ย.เพียงเดือนเดียวราคาน้ำมันในประเทศปรับขึ้นต่อเนื่องถึง 6 ครั้ง 


ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่พุ่งต่อเนื่องไม่มีท่าทีว่าจะลดลงทำให้รัฐนั่งไม่ติดเร่งหาทางแก้ไขเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)  โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธานเมื่อวันที่ 4 ต.ค.  ที่ผ่านมา


ทุบโต๊ะปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลงเหลือ 6% หรือบี 6 เป็นน้ำมันดีเซลที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันในราคาลิตรละ 28.29 บาท  เป็นการชั่วคราว แทนบี 10 และ บี 7 ที่ผสมไบโอดีเซลอยู่ในสัดส่วน 10% และ 7% ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.-31 ต.ค. 64  โดยให้ขายควบคู่กับน้ำมันดีเซล บี 20 เหมือนเดิม


นอกจากนี้ได้ลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในส่วนของบี 7  จากเดิมเรียกเก็บอยู่ที่ลิตรละ 1 บาทเหลือลิตรละ 1 สตางค์   เพื่อให้ราคาบี 7 ลดเหลือต่ำกว่าลิตรละ 30 บาท จากที่ราคาปรับขึ้นไปอยู่ที่ลิตรละ 31.29 บาท 

          

พร้อมปรับลดค่าการตลาดบี 10 และบี 7   จากเดิมเฉลี่ยลิตรละ 1.80 บาท เหลือลิตรละ 1.40 บาทมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.-31 ต.ค. 64  เพื่ออุ้มราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศโดยเฉพาะราคาบี 10 ซึ่งเป็นน้ำมันพื้นฐาน ไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นเกินเพดานที่กำหนดไว้ลิตรละ 30 บาท 


นอกจากนี้รัฐเตรียมใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุ้มราคาไปจนถึงสิ้นเดือนต.ค.นี้หากราคาน้ำมันยังดีดตัวขึ้นไม่หยุด โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันมีเงินอยู่ในกระเป๋า  11,000 ล้านบาท และถ้าไม่เพียงพอต้องใช้เงินเพิ่มก็ยังเปิดช่องให้กองทุนสามารถกู้สถาบันการเงิน โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน หรือขอใช้ พ.ร.ก.เงินกู้ เข้ามาช่วยพยุงราคาอีกแรง 

 

ทั้งนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซลตามเจตนารมย์ของรัฐ เพราะหากปล่อยราคาเป็นไปตามกลไกตลาดอาจทำให้ต้นทุนการผลิต การขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นหลักต้องขยับตัวสูงขึ้นจนส่งผลต่อเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมากเกินปัจจัยพื้นฐานในช่วงภาวะเศรษฐกิจยังอ่อนแอจากพิษโควิด 


ดังนั้นการเลือกวิธีดังกล่าวถือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในทุกหย่อมหญ้าไม่เช่นนั้นอาจเกิดวิกฤติซ้อนวิกฤติขึ้นมาได้ 


หันมาดูผู้ค้าน้ำมันทั้ง ปตท. บางจาก เอสโซ่ เชลล์กันบ้าง ต่างออกโรงประสานเสียงขานรับนโยบายรัฐปรับเกรดน้ำมันและหัวจ่ายกันคึกคัก และพร้อมจำหน่ายน้ำมัน B6 ทั่วประเทศเริ่ม 11 ต.ค.นี้ และยืนยันว่าไม่กระทบต่อต้นทุนมากนัก เพราะเป็นมาตรการชั่วคราว  โดยประชาชนผู้ใช้น้ำมันดีเซล สามารถใช้บริการได้ทั้งจากหัวจ่ายน้ำมันดีเซล B7 และหัวจ่ายของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (B10) ได้ตามปกติ  ซึ่งใช้ได้กับรถยนต์ดีเซลทุกรุ่นทุกยี่ห้อ


ส่วนกรณีเกิดกระแสความวิตกของเกษตรกรว่าการปรับลดการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ทำให้การผลิตน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับผสมใน B10 และ B7  หายไปถึง 1 ใน 4 ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อราคาผลปาล์มปัจจุบันที่จำหน่าย กก.ละ 7-8 บาทนั้น  


ในวันที่ 14 ต.ค.จะมีการประุชุม คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.)  ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 

รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำมันปาล์มหลังจาก กบง. ไฟเขียวปรับสูตรผสมไบโอดีเซลจาก B10 และ B7  เหลือ B6   

 

ขณะที่ภาคเอกชนอย่าง  นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย  มีความเป็นห่วงว่ามาตรการดังกล่าวทำให้ความต้องการใช้ไบโอดีเซลหายไปจากตลาด ถือเป็นการซ้ำเติมอุตสาหกรรมให้เจ็บตัวมากขึ้น เพราะช่วงโควิดถาโถมกำลังการผลิตร่วง 30-35% เห็นได้จากยอดการใช้น้ำมันไบโอดีเซลจาก 9.4 ล้านลิตรต่อวัน เหลือเพียง 4 ล้านลิตรต่อวัน  และการใช้มาตรการนี้อีกจะทำให้การใช้น้ำมันไบโอดีเซลลดลงเหลือ  2 ล้านลิตรต่อวัน 


นอกจากนี้ยังเสี่ยงขาดทุนสต๊อกเก่า และถ้ารัฐต่ออายุมาตรการนี้ออกไปอีก ผู้ประกอบการจะไม่สามารถแบกรับภาระได้และมีความเสี่ยงต้องหยุดกิจการหรือไม่ ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหารัฐต้องสร้างสมดุลให้กับห่วงโซ่การผลิตทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำให้อยู่ร่วมกันได้


แม้ว่าภาครัฐจะมีเจตนาที่ดีช่วยลดภาระค่าครองชีพ สกัดต้นทุนการผลิตสินค้า-เงินเฟ้อในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มสร่างจากไข้

ให้ไปต่อได้แต่ก็อย่าลืมหันกลับไปดูด้วยว่าสิ่งที่ให้ปฏิบัติไปนั้นกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งปาล์มน้ำมัน ชาวสวน

มากน้อยแค่ไหน  เพราะก่อนหน้านี้ได้หว่านเม็ดเงินลงทุนลงแรงไปมากพอควรแล้ว


ถ้าราคาน้ำมันดิบโลกยังพุ่งไม่หยุดจนทำให้รัฐยื้อเวลาใช้มาตรการดังกล่าวเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดอาจเป็นตัวจุดชนวนปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจและกลายเป็นหอกข้างแคร่ทิ่มแทงรัฐบาลได้



ภาพประกอบ : พิกซาเบย์


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง