รีเซต

สรุปปมขัดแย้ง อิสราเอล VS ปาเลสไตน์ แห่งนครศักดิ์สิทธิ์เยรูซาเล็ม

สรุปปมขัดแย้ง อิสราเอล VS ปาเลสไตน์ แห่งนครศักดิ์สิทธิ์เยรูซาเล็ม
Ingonn
12 พฤษภาคม 2564 ( 19:36 )
1.1K

เรียกว่าสงครามได้หรือยัง เมื่ออิสราเอลและปาเลสไตน์  ยกระดับการโจมตี ยิงขีปนาวุธและถล่มทางอากาศ จนสถานการณ์ใกล้ปะทุเป็นสงคราม ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากและในจำนวนนั้นมีเด็กที่ต้องเผชิญความขัดแย้งนี้อีกด้วย

 

 

 

 

วันนี้ TrueID จึงไล่เรียงเหตุการณ์และชนวนปะทุความขัดแย้งครั้งใหญ่ในอิสราเอลที่นานาชาติต่างกังวลว่าจะเป็นสงครามใหญ่ พร้อมอัปเดตสถานการณ์คนไทยในพื้นที่ 

 

 

อิสราเอล VS ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่รอวันปะทุ


1.อิสราเอลและปาเลสไตน์  มีความขัดแย้งเรื่องพื้นที่กันมาก่อนที่องค์การสหประชาชาติจะมีมติให้อิสราเอลก่อตั้งรัฐขึ้นได้บนพื้นที่ปาเลสไตน์ และให้ชาวปาเลสไตน์เหลือดินแดนเพียงฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์ (ซึ่งรวมพื้นที่เยรูซาเล็มตะวันออก) ทำให้ชาวพื้นเมืองปาเลสไตน์และชาวอาหรับในประเทศใกล้เคียง เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก 

 

ชาวอิสราเอลมองว่า “เยรูซาเล็ม” ทั้งเมือง เป็นเมืองหลวงที่ชั่วนิรันดร์ และแบ่งแยกไม่ได้ ส่วนชาวปาเลสไตน์ ต้องการพื้นที่ทางตะวันออกของเยรูซาเล็ม ไว้เป็นเมืองหลวงของรัฐในอนาคต

 

2.ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังไปเติมฟืนในไฟด้วยการย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จากกรุงเทลอาวีฟ ไปยังเยรูซาเล็มตะวันออก เสมือนยอมรับว่า เมืองหลวงของอิสราเอล คือ เยรูซาเล็ม และชาวยิวตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์ได้ไม่ผิดกฎหมาย

 

3.ขณะเดียวกันเป็นเรื่องความศรัทธาทางศาสนาที่แตกต่างกัน แต่หวังจะครอบครองนครศักดิ์สิทธิ์เยรูซาเล็มเหมือนกันได้นำไปสู่การทำสงครามศาสนาระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิม หรือที่รู้จักกันว่าสงครามครูเสด ปี ค.ศ.1906 หลังสงครามจากนั้นชาวคริสต์ได้สร้างชุมชนขึ้นหลายแห่งในปาเลสไตน์

 

 

 


สรุปชนวนความขัดแย้งครั้งนี้

 

1.ทุกคืนในช่วงเดือนรอมฎอน ชาวปาเลสไตน์ปะทะกับตำรวจอิสราเอล หลังตำรวจได้นำแผงกั้นมากีดขวางไม่ให้พวกเขารวมตัวกันบริเวณประตูดามัสกัสเพื่อพักการถือศีลอดในตอนกลางวัน โดยระบุว่า เป็นมาตรการคุมเข้มในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

 

2.ความรุนแรงเกิดขึ้นหลังชาวปาเลสไตน์โกรธแค้น เมื่อชาวยิว อิสราเอลขับไล่ครอบครัวปาเลสไตน์ออกจากบ้านเรือน ที่ตั้งอยู่ในชีค จาร์ราห์ (Sheikh Jarrah) ซึ่งเป็นย่านใกล้ประตูดามัสกัส ในเยรูซาเลมตะวันออก

 

3.กลุ่มชาวยิวชาตินิยม เริ่มเดินขบวนในนครเมืองเก่าของเยรูซาเล็ม พร้อมตะโกนว่า “ชาวอาหรับต้องตาย” ทำให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากไม่พอใจจึงเกิดการปะทะกัน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าสลายด้วยระเบิด แก๊สน้ำตา รวมถึงฉีดน้ำแรงดันสูง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและผู้ถูกจับกุมจำนวนมาก

 

4.ชาวมุสลิมปาเลสไตน์ได้ทำพิธีทางศาสนาอยู่ในมัสยิด และตำรวจอิสราเอลได้ใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และระเบิดเสียงเข้าโจมตีในมัสยิด จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 700 คน นับเป็นการปะทะกันที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา

 

5.เหตุการณ์ยังไม่จบเมื่อกลุ่มหัวรุนแรงฮามาส ยิงจรวดหลายร้อยลูกเข้าไปในอิสราเอล ขณะที่อิสราเอลก็ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศอย่างหนักต่อฉนวนกาซา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 คน อยู่ในกาซา 35 คน ซึ่งรวมทั้งเด็กด้วย 10 คน และในอิสราเอล 5 คน 

 

6.ส่วนกองทัพอิสราเอลโจมตีเป้าหมายกลุ่มหัวรุนแรงในกาซา เพื่อตอบโต้กลุ่มฮามาสที่ยิงจรวดโจมตีเยรูซาเล็มและพื้นที่อื่นๆ ในอิสราเอล 

 

7.อาคารสูง 13 ชั้นของกลุ่มปาเลสไตน์ฮามาส ในเมืองกาซา ซิตี้ ในฉนวนกาซา พังถล่มลงมาทันที หลังตกเป็นเป้าหมายการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล ส่วนที่เมืองแอชคีลอนของอิสราเอล ซึ่งอยู่ใกล้กับฉนวนกาซ่า ท่อส่งน้ำมันเกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรง หลังถูกยิงถล่มด้วยจรวดจากฉนวนกาซา ส่วนที่เมืองโฮลอนของอิสราเอล อยู่ทางใต้ของนครเทลอาวีฟ เป็นอีกเมืองหนึ่งที่ถูกปาเลสไตน์โจมตีด้วยจรวด ทำให้ชาวอิสราเอลบาดเจ็บ 3 คน รถบัสพังพินาศ 1 คัน 

 

8.นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ยืนยันว่าจะทำการโจมตีกลับอย่างรุนแรง กรณีที่กลุ่มฮามาสได้ยิงจรวดใส่อิสราเอล และตั้งใจจะสร้างเยรูซาเล็มทั้งหมดให้เป็นของชาวยิวในทันที

 

9.อิสราเอลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเมืองลอด (Lod) ทางภาคกลาง หลังชาวอาหรับเชื้อสายอิสราเอลก่อเหตุจลาจล ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่มหัวรุนแรงปาเลสไตน์ยังตึงเครียด มีการจุดไฟเผารถยนต์หลายคัน พร้อมส่งกำลังทหารเข้ารักษาความมั่นคง

 

10.ประชาคมระหว่างประเทศ เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายลดความรุนแรง ทอร์ เวนเนสแลนด์ ทูตพิเศษสันติภาพตะวันออกกลางของสหประชาชาติ หรือ UN กล่าวว่า ความขัดแย้งกำลังขยายวงกว้างไปสู่สงครามเต็มรูปแบบ

 

 

 

 

คนไทยในอิสราเอลบาดเจ็บ 1 ราย


สถานทูตไทยแนะนำให้คนไทยในอิสราเอลระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินทางไปสถานที่ชุมนุม และปฏิบัติตามทางการอิสราเอลอย่างเคร่งครัด รวมทั้งประสานไปยังแรงงานไทยในพื้นที่ต่างๆ พบว่า มีคนไทยได้รับบาดเจ็บหนึ่งรายจากเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้ ซึ่งทางสถานทูตกำลังดูแลและติดตามอย่างใกล้ชิด


 
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าในส่วนของการจัดเที่ยวบินพิเศษเพื่อนำคนไทยกลับประเทศไทย มีคนไทยเดินทางกลับจำนวน 222 คน ซึ่งผู้โดยสารทุกคนมีผลการตรวจว่าปลอดเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทาง 72 ชม. และจะเข้ารับการกักตัวตามหลักเกณฑ์ที่ทางการไทยกำหนด 

 

 

ข้อมูลจาก Tnn World , มติชน , The Matter

ภาพจาก AFP

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง