รีเซต

อนาคตอัฟกานิสถาน หลังไร้เงาของสหรัฐฯ และกองกำลังนานาชาติ

อนาคตอัฟกานิสถาน หลังไร้เงาของสหรัฐฯ และกองกำลังนานาชาติ
TNN World
1 กันยายน 2564 ( 16:50 )
70

Editor’s Pick: หลังไร้เงาของสหรัฐฯ และกองกำลังนานาชาติ กลุ่มตาลีบันก็เผยว่า ต้องการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศ ขณะเดียวกันก็ยังต้องรับมือกับกลุ่มติดอาวุธในประเทศที่ยังคงต่อต้านพวกเขาไปด้วย

กลุ่มตาลีบันเข้ามาควบคุมสนามบินนานาชาติ ฮามิด คาร์ไซ ในกรุงคาบูล แทนกองทัพสหรัฐฯ ที่ถอนทหารออกไปเสร็จสิ้นแล้วเมื่อวานนี้ ก่อนหน้านี้ ตาลีบันเผยว่าจะอนุญาตให้สายการบินพาณิชย์กลับมาบินเข้าออกสนามบินแห่งนี้ได้ในอนาคต

 

 

 

ไม่ยอมรับกองกำลังต่างชาติใด ๆ

 

ซาบีฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกกลุ่มตอลิบานบอกกับเผยกับสำนักข่าว Al Jazeera ว่า ขณะนี้กลุ่มตาลีบันกำลังยุ่งกับการรักษาความปลอดภัยและดำเนินการต่าง ๆ สนามบินนานาชาติฮามิด คาร์ไซ ในกรุงคาบูล และกำลังเจรจากับการ์ตาและตุรกีเกี่ยวกับอนาคตของสนามบินแห่งนี้

 

 

แต่ย้ำหลายครั้งว่า จะไม่ยอมรับกองกำลังทหารต่างชาติใด ๆ ในประเทศหลังจากวันที่ 31 สิงหาคม ที่สหรัฐฯ เป็นชาติสุดท้ายที่ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน

 

 

บิลาล การีมี ระบุกับสำนักข่าว AFP ว่า เครื่องบินรบและกองกำลังพิเศษของตาลีบันสามารถควบคุมสนามบินได้ และไม่ต้องการความช่วยเหลือจากใครเพื่อรักษาความปลอดภัยและควบคุมการบริหารสนามบินกรุงคาบูล

 

 

การ์ตาเรียกร้องให้กลุ่มตาลีบันยอมรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ และตาลีบันควรเห็นแก่ความปลอดภัยของสนามบินมากกว่าการรักษาขอบเขตของตัวเอง

 

 

กลุ่มตาลิบันได้ขอให้ตุรกีจัดการด้านโลจิสติกส์ หรือ ระบบขนส่ง แต่พวกเขาจะยังคงควบคุมความปลอดภัย และประธานาธิบดีเรเซป ทายยิป ​​เออร์โดอัน ของตุรกียังคงประเมินข้อเสนออยู่ แต่ดูเหมือนความกระตือรือร้นน้อยลง ผู้นำตุรกีระบุว่า หากกลุ่มตาลีบันเข้าควบคุมรักษาความปลอดภัย แล้วจะอธิบายต่อทั่วโลกอย่างไร หากมีเหตุการณ์นองเลือดเกิดขึ้นที่สนามบินอีก

 

 

 

สมองไหลไปหมดหรือยัง?

 

นอกจากนี้ ยังมีคำถามถึงพนักงานที่เชี่ยวชาญในการดำเนินการและบำรุงรักษาสนามบิน ว่ามีเพียงพอหรอไม่ เพราะคาดว่าแรงงานที่มีทักษะหลายพันคนได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว

 

 

ไมเคิล คูเกลแมน ผู้เชี่ยวชาญในเอเชียใต้ของศูนย์คลังสมองวิลสัน วอชิงตัน สหรัฐฯ มองว่า จำเป็นต้องมีการรักษาความปลอดภัยจากต่างชาติมาช่วยดูแลสนามบินกรุงคาบูล มิฉะนั้นสายการบินพาณิชย์อาจจะบินเข้าออกสนามบินไม่สะดวก

 

 

แม้กลุ่มตาลีบันจะยืนยันว่า ต้องการให้สนามบินพลเรือนเปิดต่อไป แต่หากไม่มีการรับประกันความปลอดภัย สายการบินพาณิชย์ก็คงจะไม่เดินทางไป

 

 

คูเกลแมนระบุด้วยว่า แรงจูงใจหลักในการดำเนินงานสนามบิน คือ การส่งเสริมภาพลักษณ์ระหว่างประเทศของตาลีบัน หากกลุ่มตาลีบันต้องการการยอมรับและความชอบธรรมจากรัฐบาลทั่วโลก ก็จะต้องมีสนามบิน ที่ใช้งานได้ ปลอดภัย และเชื่อถือได้

 

 


หวังเป็นมิตรกับทุกประเทศ

 

แม้จะยังหาสรุปในเรื่องนี้ไม่ได้ แต่กลุ่มตาลีบันก็แถลงว่า หวังจะพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศ

 

 

นายซาบิฮุลเลาะห์ มูจาอิด โฆษกตาลีบัน ระบุว่า ตาลีบันหวังสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับทุกประเทศในโลก รวมถึงสหรัฐฯ ด้วย

 

 

ผู้เชี่ยวชาญกิจการต่างประเทศของรัสเซีย เปิดเผยว่า รัสเซียจะเป็นหุ้นส่วนกับตาลีบัน ในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายอย่างไอเอส และอัลกออิดะห์

 

 

นายอังเดรย์ คอร์ตูนอฟ ผู้อำนวยการสภากิจการระหว่างประเทศรัสเซียบอกว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการหารือถึงการร่วมมือทางทหารระหว่างรัสเซียกับตาลีบัน หากตาลีบันยึดมั่นต่อแนวทางการต่อสู้ไอเอสหรืออัลกออิดะห์ ในอัฟกานิสถาน รัสเซียสามารถให้การสนับสนุนตาลีบัน แต่อาจจะไม่ใช่การร่วมมือทางทหารโดยตรง

 

 


เสียงตอบรับกาตาร์-เยอรมนี

 

ชีค โมฮัมเหม็ด บิน อับดุลราห์มาน อัล ธานี รัฐมนตรีต่างประเทศของกาตาร์เตือนว่า การโดดเดี่ยวกลุ่มตาลีบัน จะทำให้อัฟกานิสถานไม่มั่นคงกว่าเดิม และขอให้นานาชาติเข้ามามีส่วนร่วมกับกลุ่มตาลีบันเพื่อจัดการกับปัญหาด้านความปลอดภัย เศรษฐกิจและสังคมในอัฟกานิสถาน

 

 

ด้านไฮโก มาส รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ระบุ หลังจากหารือกับรัฐบาลการ์ตาในกรุงโดฮาว่า ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะเจรจากับกลุ่มตาลีบัน เพราะไม่ปล่อยให้อัฟกานิสถานไม่มั่นคงได้ เนื่องจากจะเป็นการสนับสนุนการก่อการ้าย และจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศเพื่อนบ้านของอัฟกานิสถาน

 

 

 

ไบเดนย้ำ คิดไม่ผิดถอนทหาร

 

ส่วนที่สหรัฐฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ แถลงครั้งแรก หลังการถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานเสร็จสิ้น ระบุว่า การถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ขณะที่พรรครีพับลิกันวิจารณ์ว่า เรื่องนี้เป็นบาดแผลที่ทำร้ายตัวเอง และทำให้สหรัฐฯ ปลอดภัยน้อยลง

 

 

ไบเดน ยังวิจารณ์ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลอัฟกันที่ถูกกลุ่มตาลิบันยึดอำนาจโดยไม่มีการต่อสู้ ทำให้กองกำลังสหรัฐฯ และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ต้องถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานอย่างเร่งด่วนและน่าขบขัน

 

 

และวิจารณ์การทำงานของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำสัญญาไว้กับกลุ่มตาลิบันเมื่อปีที่แล้ว ให้มีการปล่อยตัวนักโทษตาลิบันราว 5,000 คน รวมทั้งผู้บัญชาการระดับสูงของตาลิบัน ซึ่งเข้าร่วมในการยึดอัฟกานิสถานเมื่อต้นเดือนนี้ด้วย

 

 

นอกจากนี้ ยังระบุว่า ในตอนที่เขาเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ กลุ่มตาลิบันมีความแข็งแกร่งทางทหารมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2001 โดยสามารถควบคุมพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของอัฟกานิสถานไว้ได้แล้ว

 

 

ผู้นำสหรัฐฯ ยังได้บอกปัดเสียงวิจารณ์ที่ว่า ควรมีการอพยพประชาชนออกมาเร็วกว่านี้ โดยบอกว่าแม้จะมีการอพยพตั้งแต่เดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม สุดท้ายก็จะยังเกิดความเร่งด่วนและความโกลาหลที่สนามบินเหมือนที่เกิดขึ้นในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

 

ไบเดน กล่าวว่า หากสหรัฐฯ ยังคงปฏิบัติภารกิจทางทหารในอัฟกานิสถานต่อไป จะมีทหารอเมริกันอีกมากที่ต้องเดินทางไปประจำการที่นั่นและอาจเป็นอันตราย โดยในสงครามที่ยาวนานในอัฟกานิสถาน มีทหารสหรัฐฯเสียชีวิตมากกว่า 2,400 นาย และบาดเจ็บเกือบ 23,000 นาย

 

 

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รายงานว่า สหรัฐฯ สูญเสียกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ มีทหารอัฟกานิสถานเสียชีวิตมากกว่า 66,000 นาย และชาวอัฟกันเสียชีวิตประมาณ 240,000 คน และกว่า 2.7 ล้านคน ต้องละทิ้งบ้านเรือน เพื่อหนีสงคราม

 

 

 

จะไล่ล่า ISIS-K ต่อไป

 

จอห์น เคอร์บี้ โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ Fox News เมื่อวานนี้ (31 สิงหาคม) ว่า จะไม่หยุดส่งโดรนไปโจมตีในอัฟกานิสถาน หากจำเป็นและเมื่อใดก็ตามที่จำเป็น และจะยังคงส่งโดรนไปโจมตีกลุ่มรัฐอิสลาม-คอราซาน หรือ ISIS-K รวมไปถึงกลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ ในอัฟกานิสถานต่อไป

 

 

ทั้งนี้ ISIS-K ซึ่งเป็นเครือข่ายของกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส ก่อเหตุระเบิดปลิดชีพตนเอง ที่สนามบินในกรุงคาบูลเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ทหารสหรัฐฯ เสียชีวิตไป 13 นาย และพลเรือนอัฟกันเสียชีวิต 169 คน

 

 

สหรัฐฯ ตอบโต้กลับกลุ่ม ISIS-K ด้วยการส่งโดรนไปโจมตีหลายครั้ง เป้าหมายผู้ต้องสงสัยเป็นมือระเบิดรถยนต์ปลิดชีพตนเอง นักวางแผนของ ISIS-K และผู้สนับสนุน

 

 

เคอร์บี้ยังให้สัมภาษณ์ CNN ด้วยว่า กองทัพสหรัฐฯ ไม่ได้รู้สึกกังวล ที่เห็นภาพทหารตอลีบัน เข้าไปสำรวจตรวจสอบภายในซากเฮลิคอปเตอร์ของสหรัฐฯ ที่สนามบินคาบูล เพราะไม่สามารถนำมันบินขึ้นได้ หลังจากกองทัพสหรัฐฯ ได้ทำลายทิ้งเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์มากกว่า 70 ลำ และรถยานเกราะอีกหลายคัน ทิ้งไว้ที่สนามบินในกรุงคาบูล ก่อนจะถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานหมดสิ้น

 

 

ท่ามกลางความพยายามของกลุ่มตาลีบันที่ต้องการการยอมรับจากนานาชาติ อีกด้านหนึ่ง กลุ่มตาลีบันก็ยังคงต้องต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ที่ต่อต้านพวกเขา

 

 


สงครามยังไม่สิ้นสุดเสียทีเดียว

 

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า กลุ่มตาลีบันยังคงต่อสู้กับกลุ่ม แนวร่วมต่อต้านแห่งชาติอัฟกานิสถาน หรือ NRF ที่จังหวัดปัญจะชีร์ ฐานที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายต่อต้านตาลีบัน และตาลีบันได้เสริมกำลังไปที่นั่น

 

 

โฆษกของกลุ่ม NRF ระบุว่า มีการปะทะกันเล็กน้อยทางตะวันตกของหุบเขาปัญจะชีร์ เมื่อวันจันทร์ (30 สิงหาคม)ให้ตาลีบันเสียชีวิต 8 คน ขณะที่สมาชิกกลุ่ม NRF ได้รับบาดเจ็บ 2 คน

 

 

ขณะที่ Reuters ยังไม่สามารถติดต่อโฆษกกลุ่มตาลีบันเพื่อถามความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้

 

 

รายงานระบุว่า อาหมัด มาซูด ลูกชายของอดีตนักรบมูจาฮิดีนอัฟกัน ได้ระดมนักรบที่หุบเขาปันจชีร์ทางเหนือของกรุงคาบูล เพื่อต่อกรกับตาลีบัน ได้เรียกร้องให้มีการเจรจาข้อตกลงกับกลุ่มตาลีบัน และระบุว่า กองกำลังของเขาจะต่อต้าน หากจังหวัดปัญชีร์ถูกโจมตี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง