สารหนู- ตะกั่ว แม่น้ำกกเกินค่ามาตรฐานหลายจุด เตือน ปชช. บริโภคปลาเสี่ยงปนเปื้อน

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์ "สารหนู-ตะกั่ว" ปนเปื้อน "แม่น้ำกก" จ.เชียงรายพบเกินมาตรฐานหลายจุด เตือนประชาชนระวังบริโภคปลาน้ำจืดจากลำน้ำเสี่ยง เร่งตรวจสุขภาพเฝ้าระวังอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับพิษโลหะหนัก เบื้องต้นยังไม่พบผู้ป่วย พร้อมตรวจหาสารหนูในระบบห่วงโซ่อาหารนาน 4 เดือน ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำประปาหมู่บ้าน ย้ำล้างผักผลไม้ก่อนบริโภคช่วยลดการปนเปื้อน
วันนี้ (21 พฤษภาคม 2568) นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การปนเปื้อนโลหะหนักในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง พื้นที่ จ.เชียงราย ว่า จากข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพน้ำผิวดินโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 1–2 พฤษภาคม 2568 พบว่า แม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง บริเวณพื้นที่ จ.เชียงราย มีการปนเปื้อนสารโลหะหนัก โดยเฉพาะ “สารหนู” และ “ตะกั่ว” เกินค่ามาตรฐานในหลายจุด เช่น จุดบ้านแซว บ้านหัวฝาย สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 บ้านป่าซางงาม รวมถึงตะกอนดินแม่น้ำกกและโขงบริเวณเขต อ.แม่อาย และ อ.เมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้จากการบริโภคปลาในพื้นที่เป็นประจำ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท มีอาการชาที่ปลายมือปลายเท้า ระบบผิวหนังเกิดอาการ "ไข้ดำ" คือ ผิวหนังหนา สีคล้ำ และระบบหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย จึงมีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ โดยแจ้งเตือนเรื่องการบริโภคปลาน้ำจืดจากลำน้ำเสี่ยง และเร่งตรวจสุขภาพประชาชนที่บริโภคปลาน้ำจืดในพื้นที่เสี่ยง ประสาน รพ.สต.และโรงพยาบาลในพื้นที่เฝ้าระวังอาการผิดปกติที่อาจเชื่อมโยงกับพิษสารหนูและตะกั่ว ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยจากพิษสารหนูเรื้อรัง และยังได้จัดตั้งหน่วยแพทย์เฉพาะกิจร่วมกับกรมควบคุมโรคและกรมอนามัย ลงพื้นที่ตรวจหาสารหนูในห่วงโซ่อาหารเป็นระยะเวลา 4 เดือน ขณะที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้วางแผนสุ่มตรวจน้ำประปาหมู่บ้านที่อยู่ริมแม่น้ำกกตลอดสายจนถึงเดือนกันยายน โดยจะส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1-1 เชียงราย
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ยังได้สื่อสารความรู้เรื่องการทำความสะอาดพืชผักผลไม้และวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารให้ปลอดภัยจากสารหนูตามข้อสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยแนะนำ 3 วิธีล้างผักผลไม้ให้สะอาด คือ
1.ล้างด้วยน้ำไหล แช่ผักในน้ำสะอาดนาน 15 นาที แล้วเปิดน้ำไหลผ่าน คลี่ใบผักถูไปมาประมาณ 2 นาที
2.แช่น้ำผสมน้ำส้มสายชู 5% โดยใช้น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ผักผลไม้นาน 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
3.แช่ในเบกกิ้งโซดา ใช้อัตราส่วนครึ่งช้อนโต๊ะต่อน้ำ 10 ลิตร แช่ไว้ 15 นาที แล้วล้างออก ซึ่งจะช่วยลดสารพิษตกค้างจากยาฆ่าแมลงและลดความเสี่ยงจากเชื้อโรคได้