รีเซต

ยาน Solar Parker Probe เดินทางเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโคโรนาของดวงอาทิตย์

ยาน Solar Parker Probe เดินทางเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโคโรนาของดวงอาทิตย์
TNN ช่อง16
15 ธันวาคม 2564 ( 17:29 )
263

ยาน Solar Parker Probe ของนาซาเดินทางเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ที่เรียกว่าโคโรนาหรือชั้นบรรยากาศชั้นบนของอาทิตย์ ภายหลังยานอวกาศลำนี้เริ่มออกเดินทางจากโลกในวันที่ 12 สิงหาคม 2018 นับเป็นยานอวกาศที่เดินทางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดซึ่งอาจนำไปสู่การทำความเข้าใจการศึกษาลมสุริยะและสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ ดาวฤกษ์ใจกลางระบบสุริยะที่มีบทบาทต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก


ในระหว่างเดินทางไปยังดวงอาทิตย์ยาน Solar Parker Probe เคยทำสถิติเป็นยานอวกาศที่เดินทางได้รวดเร็วมากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างด้วยความเร็ว 586,864 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระหว่างที่ยานอวกาศโคจรผ่านดวงอาทิตย์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการโคจรรอบดวงอาทิตย์รอบที่ 10 จากกำหนดการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 24 รอบ ตลอดภารกิจ 7 ปี ของยานอวกาศลำนี้ ระยะห่างที่ยานโคจรเข้าใกล้พื้นผิวดวงอาทิตย์มากที่สุดอยู่ที่ประมาณ 6.1 ล้านกิโลเมตร


เนื่องจากยาน Parker Solar Probe เดินทางเข้าใกล้ชั้นบรรยากาศดวงอาทิตย์ที่มีความร้อนสูงตัวยานจึงถูกติดตั้งเกราะป้องกันความร้อนที่ทำจากคาร์บอนคอมโพสิต (Carbon-Carbon Composite) ความหนาประมาณ 4.5 นิ้วทนต่อความร้อนได้มากถึง 1,377 องศาเซลเซียส ปกป้องระบบสื่อสารและอุปกรณ์อื่น ๆ ภายในยานอวกาศที่มีอุณหภูมิเหลือเพียง 30 องศาเซลเซียส


อุปกรณ์สำรวจที่ถูกติดตั้งไว้บนยาน Solar Parker Probe ประกอบด้วยอุปกรณ์ SWEAP เพื่อใช้ศึกษาต้นกำเนิดของอนุภาคลมสุริยะวัดคุณสมบัติของอิเล็กตรอนโปรตอนและฮีเลียมไอออน โดยใช้กล้องโทรทรรศน์พิเศษ WISPR เพื่อใช้ถ่ายภาพของโคโรนาและชั้น Heliosphere ของดวงอาทิตย์ อุปกรณ์ FIELDS เพื่อใช้ตรวจสอบสนามแม่เหล็กด้วยเครื่องแมกนิโทมิเตอร์วัดคลื่นกระแทกจากพลาสมาในชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ อุปกรณ์ ISIS เครื่องวัดมวลสารอนุภาคที่ถูกปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์และอุปกรณ์ HeliOSPP เพื่อใช้ในการศึกษาต้นกำเนิดของเฮลิออสเฟียร์


ยาน Solar Parker Probe กลายเป็นภารกิจครั้งสำคัญขององค์การนาซานำไปสู่ความเข้าใจดวงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น การทำความเข้าชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ที่เรียกว่าโคโรนาซึ่งนักวิทยาศาสตร์กำลังต้องการข้อมูลเพื่อค้นหาสาเหตุที่ชั้นบรรยากาศโคโรนามีอุณหภูมิมากกว่าพื้นผิวดวงอาทิตย์ได้อย่างไร รวมไปถึงปรากฏการณ์ลมสุริยะกระแสของอนุภาคประจุไฟฟ้าที่ถูกปล่อยออกมาจากชั้นบรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อโลก เช่น พายุแม่เหล็กโลก (Geomagnetic Storm) ที่ระบบกวนระบบไฟฟ้าระบบสื่อสารบนโลก




ข้อมูลจาก newatlas.com 

ภาพจาก nasa.gov

ข่าวที่เกี่ยวข้อง