รีเซต

Alphabet ทดลองใช้เลเซอร์ให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล

Alphabet ทดลองใช้เลเซอร์ให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล
TNN ช่อง16
2 กรกฎาคม 2566 ( 00:51 )
49
Alphabet ทดลองใช้เลเซอร์ให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล

ในที่สุดก็มีข่าวดีสำหรับ อัลฟาเบท (Alphabet) บริษัทแม่ของกูเกิล (Google) ที่ก่อนหน้านี้ประสบความล้มเหลวในโครงการส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตทางไกลด้วยการใช้บอลลูนสตราโตสเฟียร์ แต่ล่าสุดบริษัทระบุว่ากำลังพัฒนาวิธีใหม่ด้วยการใช้ “เลเซอร์” ส่งอินเทอร์เน็ตให้พื้นที่ห่างไกลได้ใช้งาน ซึ่งหัวหน้าทีมพัฒนาระบุว่าโครงการนี้มีความคืบหน้าดีขึ้น

ภาพจากรอยเตอร์

 

โครงการนี้มีชื่อว่า ทาร์รา (Taara) เป็นส่วนหนึ่งของผลงานจากห้องปฏิบัติการนวัตกรรมของอัลฟาเบท ชื่อว่า เอ็กซ์ (X) หรือที่รู้จักกันในนาม มูนช็อต แฟคทอรี (Moonshot Factory) ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2016 หลังความพยายามใช้บอลลูนสตราโตสเฟียร์ส่งอินเทอร์เน็ตเจอปัญหาจากต้นทุนสูง ซึ่งทาง มาเฮช กฤษณัสวามี (Mahesh Krishnaswamy) หัวหน้าทีมของโครงการนี้กล่าวว่าได้ไอเดียในการพัฒนาโครงการมาจาก ลูน (loon) ซึ่งเป็นโครงการอินเทอร์เน็ต ที่ใช้เลเซอร์ในการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างบอลลูน จึงนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาต่อยอดบนพื้นดินแทน


โดยเครื่องส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตด้วยเลเซอร์ตัวนี้ จะมีขนาดเท่ากับสัญญาณไฟจราจร ตัวเครื่องจะฉายแสงเลเซอร์เพื่อส่งข้อมูล ซึ่งหลัก ๆก็คืออินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ออปติก โดยไม่ต้องใช้สายเคเบิล ไปยังเครื่องรับสัญญาณที่มีลักษณะคล้ายกัน เพื่อถอดรหัสและแปลงสัญญาณเพื่อใช้งาน

ภาพจากรอยเตอร์

 

ซึ่งตอนนี้ ทีมพัฒนากำลังร่วมมือกับบริษัท ภารตี แอร์เทล (Bharti Airtel) หนึ่งในผู้ให้บริการโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย ในการสร้างโครงสร้างการสื่อสารพื้นฐานในพื้นที่เข้าถึงได้ยาก เพื่อปรับใช้เทคโนโลยีเลเซอร์สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตในอินเดียในวงกว้างขึ้น แต่ยังไม่ได้เผยรายละเอียดทางการเงินออกมาในขณะนี้


นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการที่จะช่วยเชื่อมโยงบริการอินเทอร์เน็ตในอีก 13 ประเทศ ซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย เคนยา และฟิจิ และตั้งเป้าที่จะเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการที่มีค่าใช้จ่ายที่ถูกและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้บริโภค ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ทางฝั่งบริษัท ภารตี แอร์เทล (Bharti Airtel) เสริมว่า บริการของทาร์รา จะช่วยให้อินเทอร์เน็ตใช้งานได้เร็วขึ้นในเขตเมืองในประเทศที่พัฒนาแล้ว และเคลมว่าวิธีการส่งสัญญาณข้อมูลระหว่างอาคารนั้น ยังถูกกว่าการฝังสายเคเบิลใยแก้วนำแสงแบบเดิม ๆ อีกด้วย


และปัจจุบัน ก็ยังมีหมู่บ้านอีกหลายแสนแห่งในอินเดีย ที่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ดังนั้นก็น่าสนใจนะคะว่าถ้าโครงการนี้สำเร็จ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดโลกการเรียนรู้ให้กับประชาชนได้มหาศาลเลยทีเดียว


ข้อมูลจาก reuterstelecom.economictime

ข่าวที่เกี่ยวข้อง