รีเซต

รู้จัก 8 ผู้หญิงที่ #BreakTheBias ในแวดวงเทค

รู้จัก 8 ผู้หญิงที่ #BreakTheBias ในแวดวงเทค
Tech By True Digital
8 มีนาคม 2565 ( 00:01 )
354
รู้จัก 8 ผู้หญิงที่ #BreakTheBias ในแวดวงเทค

เพราะเพศสภาพไม่ใช่ตัวกำหนดความสามารถในบทบาทหน้าที่ของการทำงาน และในวันนี้ เราเริ่มเห็นผู้หญิงในตำแหน่งระดับสูง หรือมีอำนาจตัดสินใจอยู่ในระดับหัวแถวขององค์กรในหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยในโอกาส International Women’s Day หรือวันสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมนี้ Tech By True Digital จึงขอร่วมเชิดชูผู้หญิงทุกท่านที่ได้กรุยทาง ก้าวข้ามขีดจำกัด ต่อสู้กับมายาคติทางเพศที่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน สร้างเวทีสำหรับอนาคตให้ผู้หญิงด้วยกัน ทำให้เกิดความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อโลกที่ดีกว่า และเท่าเทียม ตามแคมเปญ #BreakTheBias ของวันสตรีสากลในปีนี้ โดยได้หยิบยกเรื่องราวของนักคิด นักพัฒนาหญิงเบื้องหลังความสำเร็จของเทคโนโลยีที่มีส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของเราในแง่มุมต่าง ๆ 8 ท่าน ดังนี้ 

 

Fei-Fei Li – นักวิจัยและพัฒนา AI ผู้ขจัดอคติบนโลกปัญญาประดิษฐ์  

 

Fei-Fei Li เป็นศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัย Standford สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ระดับแนวหน้าของโลก โดยเป็นผู้สร้าง ImageNet (Image-Net.org) ที่เป็นฐานข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการพัฒนาหรือ ‘สอน’ ให้คอมพิวเตอร์สามารถจดจำภาพและแยกแยะวัตถุจากภาพ รวมถึงข้อมูลเชิงลึกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ เธอเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายปัญญาประดิษฐ์ของ Google Cloud ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการซึ่งเป็นที่ยอมรับในแวดวง AI มากมาย อาทิ AutoML สำหรับใช้ในการเทรน AI ให้ทำงานเฉพาะทางได้อย่างง่ายดาย ก่อนจะลาออกเพื่อมาทำงานวิจัยและพัฒนาที่ Stanford Human Centered AI Institute โดยมีโปรเจกต์สำคัญคือ การสร้างอัลกอรึธึมที่ชาญฉลาดด้วยความไวเทียบเท่ามนุษย์ และที่สำคัญคือ การลดอคติใน AI ที่ถูกสร้างและถ่ายทอดโดยมนุษย์ ถือเป็นโปรเจกต์ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชีวิตมนุษย์ในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะในวันที่ AI เข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของเรา แม้ในมุมที่มองไม่เห็น 

 

Fei-Fei Li เชื่อว่า AI กำลังกำหนดโลกของเรามากขึ้นทุกวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตั้งแต่การตัดสินว่านักโทษประเภทไหนจะได้ผ่อนผันโทษ ควรส่งลูกเข้าโรงเรียนไหน ผู้สมัครคนใดควรถูกจ้างมาทำงานนี้ หรือแม้กระทั่งการจ่ายยาให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ใช้ AI เข้ามาช่วยทำงาน ซึ่งอคติบน AI นั้นมีอยู่จริง เพราะแม้อัลกอริธึมที่ขับเคลื่อนปัญญาประดิษฐ์อาจดูเหมือนเป็นกลาง แต่ข้อมูลและแอปพลิเคชันที่กำหนดผลลัพธ์ของอัลกอริธึมเหล่านั้นยังคงเป็นสิ่งที่มนุษย์ป้อนให้ และหากมนุษย์ที่ควบคุมมีภูมิหลัง ประสบการณ์และทัศนคติที่ไม่หลากหลายเพียงพอ การป้อนข้อมูลเพื่อกำหนดผลลัพธ์ของปัญญาประดิษฐ์ก็อาจเกิดความลำเอียงได้ อาทิ การอนุมัติสินเชื่อด้วย AI ที่ไม่เป็นธรรมกับคนผิวสี เพราะเกิดจากการฝึก Neural Network ใน AI ที่ออกแบบระบบโครงข่ายคอมพิวเตอร์ให้เลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์ที่มีประสบการณ์จดจำใบหน้ามนุษย์ที่เป็นคนผิวขาวเท่านั้น ส่งผลให้เกิดการสร้างแบบจำลองที่ไม่เป็นธรรมกับคนผิวสี เมื่อทำงานกับคนผิวสี การตัดสินใจของ AI อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น   

 

เมื่ออคติของมนุษย์ซึ่งแม้อาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ได้รับการถ่ายทอดเข้าสู่ระบบอัลกอริธึม สามารถบ่อนทำลายความก้าวหน้าทางสังคม และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมต่อไปได้ Fei-Fei Li จึงมุ่งมั่นขจัดอคติและความลำเอียงดังกล่าว #BreakTheBias เพื่อให้แน่ใจว่า เมื่อคอมพิวเตอร์ทำการตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้จะเป็นไปอย่างยุติธรรม

 

Hedy Lamarr: นักแสดงสาวสวยผู้อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยี Wi-Fi, GPS และ Bluetooth 

 

นักแสดงสาวสวย ผู้ใช้ความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิศวกรรมที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง ในการพัฒนาอุปกรณ์ส่งสัญญาณวิทยุในชื่อ "Secret Communications System" ที่เธอคิดค้นร่วมกับเพื่อนนักประดิษฐ์อย่าง George Antheil โดยอุปกรณ์นี้ทำหน้าที่เปลี่ยนคลื่นความถี่วิทยุ ที่ถูกนำไปใช้ในกองทัพของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อป้องกันการล้วงข้อมูล ถอดรหัสและการรบกวนสัญญาณวิทยุจากฝ่ายอักษะ (เยอรมัน) ในช่วงสงคราม ซึ่งระบบนี้ได้รับการจดสิทธิบัตรในปี 1942 และกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของเทคโนโลยีในการสื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ, Wi-Fi, GPS และ Bluetooth ที่เราใช้กันอย่างคุ้นเคยในปัจจุบัน

 

นอกจากการเป็นนักแสดงที่โด่งดัง ที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยและการแสดงแล้ว Hedy Lamarr ยังเรียกได้ว่าเป็นนักสิทธิสตรีที่มาก่อนกาล เธอก้าวข้ามกำแพงความสวยและทัศนคติเหมารวมที่มองว่าผู้หญิงสวยควรสร้างเสน่ห์บนหน้าจอทีวีเท่านั้น ด้วยการ#BreakTheBias สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมและมายาคติทางเพศว่าผู้หญิงไม่ใช่เพียงวัตถุทางความงาม รวมไปถึงวงการเทคโนโลยีการสื่อสารด้วยการปูรากฐานให้กับสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นก้าวสำคัญที่ Disrupt วงการการสื่อสารที่ยังคงมีผลถึงปัจจุบันนี้ 

 

Joan Ball ผู้บุกเบิกการแมตช์คู่ออนไลน์ก่อนที่เราจะได้ปัดซ้ายขวา 

 

ก่อนจะมี Tinder, Bumble หรือ OkCupid  ให้เราปัดซ้ายขวาเพื่อแมตช์คู่ของตัวเองนั้น บริษัท St. James Computer Dating Service ของ Joan Ball ในสหราชอาณาจักร มีบริการแมตช์คู่จากคอมพิวเตอร์แบบล้ำยุคล้ำสมัยมาตั้งแต่ปี 1964 แล้ว 

 

Joan Ball ถือได้ว่าเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการจัดหาคู่ เพราะเริ่มต้นการทำงานในบริษัทจัดหาคู่ ก่อนจะมาเปิดบริษัทเป็นของตัวเองในช่วงปี 1962 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชื่อเสียงของบริษัทจัดหาคู่ถูกพูดถึงไปในทางที่ไม่ดีนัก แต่ Joan Ball ก็ประสบความสำเร็จท่ามกลางชื่อเสียของอุตสาหกรรม และที่ St. James Computer Dating Service นี่เองที่ Joan Ball เริ่มต้นการแมตช์คู่ด้วยคอมพิวเตอร์ ก่อนจะขยับขยายและเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น Com-Pat ที่ย่อมาจาก Computerized Compatibility 

 

การทำงานแมตช์คู่ของ Joan Ball เริ่มจากการเซ็ตระบบให้คอมพิวเตอร์อ่าน Code จาก Punch Card ที่เป็นคำตอบจากแบบสำรวจผู้ใช้บริการถึงสิ่งที่คาดหวัง ชอบ หรือไม่ต้องการจากคนรัก โดยระบบจะออกแบบให้ Punch Card วิ่งผ่านช่องอ่านของเครื่องเพื่อให้เครื่องอ่านข้อมูล แล้วประมวลผลเพื่อหาชุดคำตอบของคนที่ ‘แมตช์’ กัน โดยโปรแกรมของเธอจะจับคู่ความเข้ากันได้ของคู่แต่ละคู่ในระบบ ก่อนส่งต่อไปยังผู้ใช้บริการที่จะได้รับชื่อและที่อยู่ของใครก็ตามที่พวกเขาถูกจับคู่ด้วย Joan Ball จึงถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกการ ‘แมตช์’ ในอุตสาหกรรมหาคู่ออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์เป็นคนแรก และยัง #BreakTheBias ที่มีต่อบริการจัดหาคู่ทางคอมพิวเตอร์ที่มีเพียงเธอเป็นรายเดียวที่ใช้วิธีการนี้ในช่วงเวลานั้น ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าสิ่งที่เธอทำจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมได้อย่างไร จนในทุกวันนี้การแมตช์คู่ออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติของอุตสาหกรรมไปแล้ว ถือเป็นการวางรากฐานการนำแนวคิด Data-Driven หรือการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูลเพื่อสร้างจุดแข็งให้กับธุรกิจ นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างเฉพาะเจาะจง และแมตช์ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมนี้  

Dr. Katalin Kariko ผู้อยู่เบื้องหลังวัคซีน mRNA

 

คนทั่วโลกอาจเพิ่งเคยได้ยินและเข้าใจคำว่า mRNA เมื่อไม่นานมานี้ แต่สำหรับ Dr. Katalin Kariko แล้ว เธออยู่กับคำว่า mRNA มาตั้งแต่การเริ่มพัฒนาทดลอง mRNA ในห้องแล็บ อยู่กับสายตาของหมู่เพื่อนร่วมงานที่มองว่าสิ่งที่เธอทุ่มเทนั้นเป็นเรื่องที่ไกลตัวเกินกว่าที่รัฐบาลจะอนุมัติ  โดยยังคงรักษาความฝันที่จะได้เห็นวัคซีนชนิด mRNA ถูกใช้งานมาเป็นเวลากว่า 40 ปี เธอไม่เพียง #BreakTheBias กับมายาคติทางเพศ ในฐานะที่เป็นผู้หญิงในแวดวงวิทยาศาสตร์และนักวิจัย และในฐานะชาวต่างชาติที่อพยพเข้ามาทำงานในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่เธอยังทำลายอคติในวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่ไม่เชื่อมั่นในการต่อยอดเทคโนโลยีพันธุกรรมสู่การสร้างยารักษาโรคและวัคซีนในมนุษย์อีกด้วย 

 

ต่อมา หลังการทำงานและวิจัยเพิ่มเติมร่วมกับ Dr. Drew Weissman ที่มหาวิทยาลัย Pennsylvania ในที่สุด mRNA ก็ถูกนำมาพัฒนาเป็นวัคซีนโควิด-19 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของวงการวัคซีนที่เทคโนโลยี mRNA ได้ถูกนำมาใช้ โดยความสำเร็จจากวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA นี้ ทำให้ mRNA จะถูกพัฒนาต่อยอดไปเป็นวัคซีนเพื่อใช้รักษาโรคอื่น ๆ ได้อีก อาทิ การฉีดเพื่อให้ร่างกายสร้างโปรตีนที่มีคุณสมบัติทางยาเพื่อรักษาโรคเบาหวาน วัคซีนต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ และไวรัสซิก้า เป็นต้น โดยในขณะนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและทดลองทางคลินิก

 

mRNA ที่ถูกพัฒนามาอย่างยาวนานในห้องแล็บจนมาถึงวันที่ได้ใช้งานเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้คนในช่วงเวลาที่ทั้งโลกต่างประสบภัยจากการระบาดของโควิด-19 นั้น จึงนับได้ว่าเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ที่มี Dr. Katalin Kariko เป็นผู้อยู่เบื้องหลังประวัติศาสตร์นี้ 

 

Elizebeth Smith Friedman นักถอดรหัสหญิงผู้วางรากฐานการเข้ารหัสสมัยใหม่และการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์

 

ย้อนไปในยุคสมัยที่วิทยาการด้านการเข้ารหัสและถอดรหัสข้อความผ่านคลื่นความถี่วิทยุ ยังไม่เป็นที่เข้าใจและแพร่หลายนัก แต่ Elizebeth Smith Friedman กลับมีพรสวรรค์ในการเรียนรู้ทักษะการถอดรหัสจากหน่วยงานที่กองทัพสหรัฐตั้งขึ้นเพื่อศึกษาวิธีการเข้ารหัสต่าง ๆ เพื่อใช้งานในกองทัพ ในเวลานั้นเธอเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ผู้มาเรียนรู้วิชาการเข้ารหัส แต่ความโดดเด่นของเธอคือการสามารถจดจำรูปแบบของภาษาและ Pattern ของรหัสต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และมักจะวิเคราะห์และถอดรหัสข้อความได้อย่างแม่นยำ ซึ่งทักษะและความเชี่ยวชาญอันมีค่าสำหรับสงครามโลกครั้งที่ 1 นี้เอง ทำให้เธอและสามีคือ William Friedman ได้เข้าไปทำงานในกองทัพสหรัฐ เพื่อฝึกเจ้าหน้าที่กองทัพในการถอดรหัสข้อความ และสร้างระบบรหัสที่ซับซ้อนขึ้นของตนเอง หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เธอเข้าไปควบคุมการทำงานให้กับหน่วยเข้ารหัสลับภายใต้หน่วยยามฝั่งของสหรัฐอเมริกา โดยใช้ความสามารถในการถอดรหัสและทำลายรหัสเพื่อรักษาความปลอดภัยทางทะเล สอดส่องและส่งตัวผู้ลักลอบขนของเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือแกงค์อาชญากรต่าง ๆ โดยในระหว่างการทำงานของเธอนั้น มีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิดตามชายฝั่งถึง 650 คดี และเธอให้การเป็นพยานคดีลักลอบขนยาเสพติดในฐานะผู้เชี่ยวชาญถึง 33 คดี 

 

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเธออยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเธอสามารถถอดรหัสข้อความ สอดแนมและเปิดเผยเครือข่ายสายลับนาซีทั่วทั้งอเมริกาใต้ ในแบบที่หน่วยข่าวกรองและ FBI ทำไม่ได้ และช่วยกองกำลังพันธมิตรให้ชนะสงครามได้ในที่สุด แต่เครดิตกลับถูกยกให้หน่วยงาน FBI ในขณะนั้น และเธอถูกขอร้องให้เซ็นสัญญารักษาความลับเกี่ยวกับผลงานที่เธอทำจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต 

 

สำหรับเธอแล้ว แม้บทบาททางเพศจะไม่ได้เป็นอุปสรรคในระหว่างการทำงาน เนื่องจากความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวของเธอ แต่เสียงชื่นชมที่เธอควรได้รับกลับไม่เคยได้คืนย้อนกลับไปหาเธอในยามมีชีวิตอยู่ ด้วยอคติที่ครอบคลุมสังคมในหลายมิติ ทำให้กว่าผลงาน #BreakTheBias ของเธอจะได้รับการเปิดเผยก็ผ่านไปกว่า 70 ปีแล้ว แต่ความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์รหัส ถอดรหัสและทำลายรหัส รวมถึงการสร้างระบบรหัสที่ซับซ้อนที่เธอทำไว้นั้น ถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาการเข้ารหัสสมัยใหม่ ​​การจัดการด้านระบบการรักษาความปลอดภัยข้อมูล การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ไปจนถึงการเฝ้าระวังทางดิจิทัลในปัจจุบันที่จะเป็นการพูดถึงตลอดไป

 

Radia Perlman: The Mother of The Internet

 

The Mother of The Internet ที่มักบอกใครต่อใครว่า ‘Don’t Call Me The Mother of The Internet’ ผู้เกิดและเติบโตมาในครอบครัววิศวกรที่ทำงานให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ พ่อของเธอเป็นวิศวกรเรดาห์ แม่เป็นนักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ในเวลานั้นถูกเรียกว่าเป็นนักคณิตศาสตร์ แต่แม้ว่าจะมีแม่เป็นโปรแกรมเมอร์ แต่เธอกลับมารู้จักการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็เมื่อในช่วงมัธยมปลาย เมื่อโรงเรียนคัดเด็กไปเข้าเรียนกับหลักสูตรพิเศษของมหาวิทยาลัย เธอเริ่มเข้าสู่แวดวงคอมพิวเตอร์ และหาเงินได้จากการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เมื่อเข้าเรียนที่ MIT ด้วยการเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ห้องแล็บ AI ของ MIT เขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ระบบ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ของซอฟต์แวร์ และต่อยอดเรื่อยมาจนได้สร้างผลงานที่ทำให้ใครต่อใครเรียกเธอว่าเป็น The Mother of The Internet ด้วยการพัฒนาอัลกอริธึมหลังบ้านของ Spanning Tree Protocol (STP) เมื่อครั้งทำงานให้กับ Digital Equipment Corporation ซึ่งพยายามแก้ปัญหาการแชร์ไฟล์ระหว่างคอมพิวเตอร์ สิ่งที่เธอคิดค้นกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้อินเทอร์เน็ตในทุกวันนี้เกิดขึ้นจริงได้ ผลงานของเธอส่งผลกระทบเชิงบวกอย่างใหญ่หลวงต่อการวางรากฐานการจัดระเบียบและย้ายข้อมูลของเครือข่ายด้วยตนเอง โครงสร้างพื้นฐานของการรับส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต การสร้างเครือข่ายขนาดใหญ่ และการใช้ Bandwidth อย่างเหมาะสม 

 

Radia Perlman มองว่าอินเทอร์เน็ตไม่ได้ถูกคิดค้นขึ้นมาด้วยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เหมือนที่ว่าไม่มีเทคโนโลยีเดียวที่สามารถทำให้เกิดอินเทอร์เน็ตได้ แต่มีหลายอย่างประกอบกัน เธออาจเป็นเพียงผู้สร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับอินเทอร์เน็ต แต่ก็ยังมีอีกหลายเทคโนโลยีและเวลาที่เหมาะสมที่ประกอบร่างให้เป็นอินเทอร์เน็ตได้ในทุกวันนี้ เธอจึงมักพูดเสมอว่าเธอไม่ใช่ The Mother of The Internet

 

สำหรับเธอแล้ว การ #BreakTheBias มีปัจจัยนอกเหนือไปมากกว่าการดูสัดส่วนจำนวนชายหญิงในการทำงาน แต่รวมไปถึงความหลากหลายในมิติ ภูมิหลัง และประสบการณ์ต่างๆ ที่จะนำมาซึ่งความหลากหลายในแนวคิด ที่จะร่วมสร้างให้เกิดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์คนในสังคมได้อย่างเท่าเทียมอย่างแท้จริง 

 

Marie Van Brittan Brown ผู้สร้างสังคมปลอดภัยด้วยกล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัยในบ้าน

 

พยาบาลเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันผู้นี้ถือได้ว่าเป็นผู้วางรากฐานระบบกล้องวงจรปิดเพื่อรักษาความปลอดภัยภายในบ้านระบบแรกของโลก แนวคิดของสิ่งประดิษฐ์นี้เริ่มมาจากที่ครอบครัวเธออาศัยอยู่ในย่านที่มีเหตุอาชญากรรมสูง ประกอบกับการทำงานของสามีที่ทำงานเป็นช่างเทคนิคไฟฟ้า และตัวเธอเองที่เป็นพยาบาลมีชั่วโมงการทำงานที่ไม่ปกตินัก บางครั้งเธอต้องอยู่เวรทำให้กลับบ้านดึก หรือบางครั้งสามีกลับบ้านดึกเพราะงานที่ค้าง ทำให้เธอรู้สึกหวาดระแวงว่าการอยู่บ้านคนเดียวนั้นอาจเกิดเหตุไม่คาดฝันได้ เธอจึงเริ่มจากความคิดที่จะหาวิธีดูว่าใครอยู่ที่หน้าประตูบ้านของเธอหากเธอได้ยินเสียงเคาะประตู 

 

ในปี 1966 เธอร่วมกับสามีประดิษฐ์ระบบรักษาความปลอดภัยภายในบ้าน ซึ่งประกอบด้วยช่องมองภาพ  กล้องแบบเลื่อน จอโทรทัศน์ และไมโครโฟนแบบที่มีลำโพงในตัว โดยอุปกรณ์เหล่านี้ได้สร้างระบบโทรทัศน์วงจรปิดสำหรับการเฝ้าระวัง หรือที่เรียกว่ากล้องวงจรปิดในปัจจุบัน ด้วยช่องมองภาพหลายช่อง กล้องแบบเลื่อนเพื่อให้สามารถจับภาพผู้ที่มีส่วนสูงต่างกันได้ เช่น สามี และตัวเธอ แล้วตั้งค่ากล้องที่ปรับจากช่องมองผ่านประตูเป็นช่องเพื่อให้คนในบ้านมองออกไปข้างนอก แล้วสตรีมเป็นภาพวิดีโอขึ้นไปยังโทรทัศน์เครื่องใดก็ได้ในบ้าน พร้อมไมโครโฟนและลำโพงในตัวที่ทำให้เธอสามารถสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้ นอกจากนี้ เธอยังมีรีโมตที่ช่วยให้เธอปลดล็อกประตูได้ในระยะที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น และสามารถกดปุ่มฉุกเฉินที่จะส่งสัญญาณเตือนไปยังตำรวจ หรือหน่วยรักษาความปลอดภัยใกล้บ้านได้อีกด้วย

 

สิ่งประดิษฐ์ของเธอได้รับการจดสิทธิบัตรในเวลาต่อมา ถือได้ว่าเป็นรากฐานที่แท้จริงของระบบรักษาความปลอดภัยภายในบ้านสมัยใหม่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และยังเป็นการ #BreakTheBias ด้วยการสร้างโลกที่เท่าเทียมทางเพศและการยกย่องความสำเร็จของผู้หญิง ผู้สร้างสิ่งประดิษฐ์สำคัญที่มีส่วนทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น

 

พญ. พิรญาณ์ ธำรงธีระกุล ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชันชีวีไลฟ์ (Chiiwii Live) เข้าถึงแพทย์ทางไกลได้จากทุกที่

 

คุณหมอพิรญาณ์เป็นทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและเวชศาสตร์ชะลอวัย และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัท ชีวีบริรักษ์ จำกัด และแอปพลิเคชันชีวีไลฟ์ (Chiiwii Live) สตาร์ทอัปกลุ่มแรก ๆ ของไทยที่บุกเบิก Health Tech ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชันปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) แบบเรียลไทม์ผ่านสมาร์ตโฟน ด้วยความมุ่งหมายเพื่อให้คนไทยที่ไม่ว่าอยู่ที่ไหนหรือเมื่อไหร่ก็สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้ 

 

ชีวีไลฟ์มีบริการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ตั้งแต่คัดกรองโรคก่อนแนะนำให้พบแพทย์ ไปจนถึงการพบแพทย์แบบเรียลไทม์ เส้นทางของชีวีไลฟ์นั้นเริ่มต้นจากการเปิดเว็บไซต์ ‘ชีวีดอทคอม’ บริการตอบปัญหาสุขภาพออนไลน์ โดยให้ผู้รับบริการเข้ามาฝากคำถามเกี่ยวกับสุขภาพไว้ และจะมีหมอเฉพาะทางเข้ามาตอบ จนกระทั่งขยายบริการให้ผู้รับบริการสามารถนัดหมายเพื่อพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญผ่านแอปพลิเคชันได้แบบเรียลไทม์ผ่านสมาร์ตโฟน ซึ่งมีแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง อาทิ ปัญหาผิวพรรณ ความงาม แม่และเด็ก ทันตกรรม LGBTQ ไปจนถึงสุขภาพจิต คอยให้บริการและส่งยาให้ถึงบ้าน โดยล่าสุด ทีมแพทย์ชีวีไลฟ์ขยายช่องทางการให้บริการที่ล้ำสมัยและครบวงจรมากยิ่งขึ้นในแอปพลิเคชันใหม่ที่ชื่อว่า MorDee (หมอดี) 

 

คุณหมอพิรญาณ์เคยกล่าวไว้ถึงการก้าวเข้ามาโลดแล่นอยู่ในแวดวงเทคโนโลยีที่ไม่ค่อยมีผู้หญิงมากเท่าใดนักว่า ศักยภาพของผู้หญิงไม่ได้ด้อยไปกว่าผู้ชาย สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความสามารถและความเชี่ยวชาญ รวมถึงความชอบหรือไม่ชอบในการจะทำงานสายใดก็ตาม ความมุ่งมั่นในการนำความรู้ความสามารถของคุณหมอและกลุ่มเพื่อนมาอยู่ในแวดวงเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมให้คนไทยได้มีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้น หาหมอจากที่ไหนก็ได้นี่เอง คือการ #BreakTheBias ด้วยการมองข้ามเรื่องเพศสภาพกับงานที่ทำ เพราะสำหรับคุณหมอแล้วไม่ว่าเพศใด การได้ใช้ศักยภาพและความเชี่ยวชาญในงานที่ชอบ คือการแสดงจุดยืนของตนเองเพื่อบรรลุเป้าหมายของชีวิตที่วางไว้และได้ทำเพื่อสังคมที่ดีขึ้นได้เช่นกัน

 

Tech By True Digital ขอมอบพื้นที่ของบทความนี้ในการเชิดชูเกียรติผู้หญิงผู้อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีเหล่านี้และอีกหลายท่านที่ไม่ได้ถูกเอ่ยถึง และผู้หญิงทุกท่านที่เชื่อมั่นในขีดความสามารถของตัวเอง ต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อความก้าวหน้าของโลก เพื่อความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงผู้ที่ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศในทุกอุตสาหกรรม โดยไม่นำเพศสภาพมากำหนดคุณค่าหรือความก้าวหน้าในการทำงาน เพราะไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพใด การทำงานเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าให้โลก ควรค่าแก่การยกย่องเสมอ



------------------------------




อ้างอิง:

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง