รีเซต

เกษียณอายุประกันสังคม ได้รับสิทธิอะไรบ้าง

เกษียณอายุประกันสังคม ได้รับสิทธิอะไรบ้าง
TNN ช่อง16
25 ตุลาคม 2564 ( 17:19 )
74
เกษียณอายุประกันสังคม ได้รับสิทธิอะไรบ้าง

สำนักงานประกันสังคม มอบสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยส่งเงินสมทบเข้ากองทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นเงินออมหลังเกษียณ หรือที่เราเรียกกันว่า เงินบำเหน็จ และ เงินบำนาญชราภาพ


สิทธิประโยชน์หลังเกษียณประกันสังคม มีอะไรบ้าง

เงินชราภาพประกันสังคมแบ่งออกเป็น 2 แบบ  คือ เงินบำเหน็จชราภาพ และ เงินบำนาญชราภาพ ซึ่งผู้ประกันตนไม่สามารถเลือกได้ว่าจะรับเป็นเงินบำเหน็จ หรือ เงินบำนาญชราภาพ แต่การได้รับจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม


เงินบำเหน็จชราภาพ คืออะไร

เงินบำเหน็จชราภาพ คือ เงินที่จะได้รับเป็นเงินก้อนใหญ่เพียงแค่ครั้งเดียวเมื่อผู้ประกันตนเกษียณอายุ


เงื่อนไขการรับเงินบำเหน็จชราภาพ

1.จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน หรือ 15 ปี 

2. สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน

3. มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย


เงินบำนาญชราภาพ คืออะไร

เงินบำนาญชราภาพ คือ  เงินที่จะทยอยจ่ายเป็นรายเดือนไปตลอดชีวิต 


เงื่อนไขการรับเงินบำนาญชราภาพ

-  จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า180 เดือน ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม

-  มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

-  ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง


ประโยชน์ทดแทนกรณีเงินบำเหน็จชราภาพ และ เงินบำนาญชราภาพ มีอะไรบ้าง


ประโยชน์ทดแทนกรณีเงินบำเหน็จชราภาพ

- กรณีที่มีการจ่าย เงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ให้จ่ายเงินเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ 

- กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด


ประโยชน์ทดแทนกรณีเงินบำนาญชราภาพ

-  กรณีจ่ายเงินสมทบ มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 180 เดือน มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนใน อัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้น สุดลง

-  กรณีที่มีการจ่าย เงินสมทบเกิน 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพตามข้อ 1 ขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อ ระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน


ที่มาภาพ : สำนักงานประกันสังคม


หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ

-  แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (สปส. 2-01)


กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย

- สำเนามรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านผู้ตาย

- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพ

- สำเนาทะเบียนสมรสของผู้ประกันตนและของบิดามารดา (ถ้ามี)

- สำเนาสูติบัตรของบุตรหรือสำเนาทะเบียนบ้านของบุตร กรณีไม่มีสูติบัตร

- หนังสือระบบให้เป็นผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพ (ถ้ามี)


กรณีบำนาญชราภาพ

สำเนาสมุดบัญชี เงินฝากธนาคารหน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร) ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน 11 ธนาคาร ดังนี้

         1) ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)

         2) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)

         3) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)

         4) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

         5) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)

         6) ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)

         7) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)

         8) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

         9) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด(มหาชน)

        10) ธนาคารออมสิน

        11) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)


หลักเกณฑ์ที่จะได้รับเงินชราภาพ

-  ผู้ประกันตน/ทายาทผู้มีสิทธิ ต้องกรอกแบบ สปส. 2-01 พร้อมลงลายมือชื่อยื่นที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)  หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์โดยมีหลักฐานครบถ้วน

-  เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐานและพิจารณา

-  สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา

-  พิจารณาสั่งจ่ายเงินสด/เช็ค โดยผู้ประกันตน/ผู้มีสิทธิมารับด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับแทน) ส่งธนาณัติให้ผู้ประกันตน,โอนเข้าบัญชีธนาคารตามบัญชีของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน


ที่มาภาพ : สำนักงานประกันสังคม


สูตรคำนวณเงินบำเหน็จชราภาพ

- กรณีจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 1-11 เดือน = เงินสมทบของผู้ประกันตนฝ่ายเดียว

- กรณีจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12-179 เดือน = เงินสมทบผู้ประกันตน + เงินสมทบนายจ้าง + ผลประโยชน์ตอบแทน


สูตรคำนวณเงินบำนาญชราภาพ

ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายคูณด้วย 20% (+ จำนวน% ที่ให้เพิ่มอีกปีละ 1.5%)



นอกจากสิทธิเงินบำนาญชราภาพที่จะได้รับ ผู้ประกันตนแต่ละประเภทยังได้รับสิทธิอีกหลากหลายด้าน โดยสามารถเช็กสิทธิประกันสังคมแต่ละมาตราได้ที่นี่


เช็กประกันสังคมมาตรา 33 ได้สิทธิอะไรบ้าง
เช็กประกันสังคมมาตรา 39 ได้สิทธิอะไรบ้าง

เช็กสิทธิประกันสังคมมาตรา 40 ได้สิทธิอะไรบ้าง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง