รีเซต

'จุรินทร์' เบรกขึ้นราคา 'ไข่-ไก่' แพงตามหมู ปศุสัตว์ลุยตรวจ 10 ฟาร์ม ลุ้นผลเอเอสเอฟ

'จุรินทร์' เบรกขึ้นราคา 'ไข่-ไก่' แพงตามหมู ปศุสัตว์ลุยตรวจ 10 ฟาร์ม ลุ้นผลเอเอสเอฟ
มติชน
11 มกราคม 2565 ( 08:15 )
43
'จุรินทร์' เบรกขึ้นราคา 'ไข่-ไก่' แพงตามหมู ปศุสัตว์ลุยตรวจ 10 ฟาร์ม ลุ้นผลเอเอสเอฟ

เมื่อวันที่ 11 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะ ไข่ไก่ และ เนื้อไก่ ทยอยปรับขึ้นราคา ในระหว่างตรวจด่านศุลกากรสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จ.หนองคาย เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่อนุญาตให้ขึ้นราคาสินค้าดังกล่าว ถ้ามีการฉวยขึ้นราคาก็จะดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค หากมีความจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าในรายการใด ผู้ประกอบการสามารถทำเรื่องมายังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิสูจน์เป็นรายกรณีว่ามีความจำเป็นแท้จริงหรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรรายย่อย จากการกดราคาทางนโยบาย เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าขาดตลาดอีก

 

“มอบหมายให้อธิบดีกรมการค้าภายในไปติดตามราคาเนื้อไก่และไข่ไก่ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากกรณีเนื้อหมูได้ขึ้นราคาไปแล้ว ขณะเดียวกันต้องช่วยเหลือดูแลเกษตรกรรายย่อยด้วย ต้องให้สมดุลกันระหว่างผู้บริโภคและเกษตรกรรายย่อย” นายจุรินทร์กล่าว

 

นายจุรินทร์กล่าวว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนหลังเนื้อหมูขึ้นราคาไปแล้วนั้น ขณะนี้มีโครงการพาณิชย์ลดราคาที่กำหนดราคาหมูเนื้อแดงที่กิโลกรัม (กก.) ละ 150 บาท กว่า 600 จุด พร้อมเตรียมเสนอของบกลาง เพื่อเร่งชดเชยราคาในโครงการที่ตรึงไว้ 150 บาท/กก. และอุดหนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย เพื่อให้มีกำลังใจในการเลี้ยงหมูต่อไป ไม่ให้เกิดภาวะหมูขาดแคลนในอนาคต

 

“ในวันที่ 11 มกราคมจะชี้แจงด้วยวาจาให้นายกฯรับทราบก่อนในเบื้องต้น ส่วนการพิจารณานำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศนั้นคงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและดูหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะต้องระมัดระวังโรคติดต่อที่มากับหมูและสุขอนามัย รวมถึงข้อกดดันทางการค้าอื่นๆ” นายจุรินทร์กล่าว

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (เอเอสเอฟ) อย่างมาก โดยนายกฯให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากการเดินทางเชื้อไวรัสทำให้มีความเสี่ยงจะพบโรคเอเอสเอฟ จากกระแสข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่าพบโรคเอเอสเอฟในไทย ทางกรมลงไปตรวจสอบในพื้นที่ ที่มีการเลี้ยงสุกรอย่างหนาแน่นโดยเฉพาะที่ราชบุรี นครปฐม ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และขอนแก่น รวมถึงลงพื้นที่สำรวจในภาคเหนือ และภาคใต้บางจังหวัดอีกด้วย เพื่อค้นหาโรคเอเอสเอฟ โดยใช้วิธีเก็บตัวอย่างในเลือดสุกร และโรงฆ่า ปรากฏว่าผลจากการตรวจสอบ 10 ฟาร์ม 305 ตัวอย่าง รวมถึงตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง 5 ตัวอย่าง ตอนนี้รอผลจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติว่าผลจะออกมาอย่างไร

 

“คาดว่าใช้เวลารอผลตรวจไม่เกิน 2 วัน หลังจากนั้นกรมจะชี้แจงให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว และเป็นไปตามข้อสั่งการของนายกฯ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะนี้กรมร่วมมือกับทุกภาคีเครือข่าย โดยชี้แจงเบื้องต้นว่าหากพบการระบาดของโรคเอเอสเอฟ เราจะดำเนินการอย่างไรต่อไป” นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าว

 

นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าวว่า เมื่อพบความเสี่ยง ทางรัฐบาลอนุญาตให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำลายสุกรทิ้งได้เลย โดยมีค่าชดเชยให้ ที่ผ่านมารัฐบาลมีงบประมาณช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย 1,142 ล้านบาท และเตรียมเสนอของบประมาณเพิ่มเติมต่อที่ประชุม ครม. เพื่อมาช่วยเหลือในส่วนนี้เพิ่มอีก 500 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การที่กรมมีห้องปฏิบัติการเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จะช่วยให้การตรวจโรคในสุกร หรือโรคอะไรก็ตาม หากพบโรคจะประสานมาที่กรม เพื่อให้ดำเนินการตรวจโรคอย่างถูกต้องและแม่นยำต่อไป

 

“จุดมุ่งหมายของรัฐบาลคือเพื่อให้ผู้เลี้ยงสุกร 200,000 รายทั่วประเทศ สามารถประกอบอาชีพนี้ต่อไปได้ รัฐบาลได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว ส่วนการช่วยเหลือผู้บริโภคนั้น ได้ประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ หารือร่วมกัน และออกมาตรการเร่งด่วนคือ หยุดส่งออกสุกรมีชีวิตชั่วคราว และให้ตรวจสต๊อกสุกร คาดว่าจะทำให้สถานภาพการควบคุมโรค และการนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ เพื่อปรับสมดุลเรื่องดีมานด์ และซัพพลายเป็นไปได้ดีและรวดเร็วที่สุด

 

“หากพบฟาร์มที่มีโรคระบาด กรมจะสอบสวนโรค และประกาศเป็นเขตโรคระบาดตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ หรือสัตวแพทย์ประจำอำเภอ จะกำหนดเขตควบคุมโรค หรือทำลายสัตว์ในรัศมี โดยรัฐบาลจะมีเงินชดเชยให้ ส่วนเรื่องการเคลื่อนย้าย มีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดเป็นปกติอยู่แล้ว และจะประชุมกับสมาคมผู้เลี้งสุกรแห่งชาติ เพื่อเช็กยอดการผลิต และการเคลื่อนย้ายว่าในพื้นที่ไหนขาดแคลนสุกร หรือมีสุกรมากเกินไป” นายสัตวแพทย์สรวิศระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง