10 อันดับ "ข่าวปลอม" คนสนใจสูงสุดสัปดาห์นี้ เช็กเลยมีเรื่องอะไรบ้าง?
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม - 4 เมษายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,203,960 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ(Verify) ทั้งสิ้น 151 ข้อความ
ทั้งนี้ ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 133 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 18 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 124 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 83 เรื่อง
ดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 กลุ่มนโยบายรัฐบาล /ข่าวสารทางราชการ/ความสงบเรียบร้อยของสังคม / ขัดศีลธรรมอันดี และ ความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 68 เรื่อง อาทิ แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท วันที่ 10 เม.ย. เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายอื่น จำนวน 30 เรื่อง อาทิ ติ่งหูมีรอยเส้นหรือรอยย่น เป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดหัวใจ / ห้ามกลั้นจาม เสี่ยงหลอดลมฉีก เป็นต้น
กลุ่มที่ 3 กลุ่มภัยพิบัติ จำนวน 3 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 กลุ่มเศรษฐกิจ จำนวน 3 เรื่อง อาทิ ไทยส่งออกยางไปต่างประเทศมากกว่า 80% โดยปริมาณความต้องการใช้งานภายในประเทศมีไม่ถึง 20% เป็นต้น
กลุ่มที่ 5 กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 20 เรื่อง อาทิ ปตท. เปิดให้ประชาชนทั่วไป ซื้อ-ขายหุ้น เปิดพอร์ตเริ่มต้น 1,000 บาท กำไร 320 บาท/วัน เป็นต้น
โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชน มากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง กระเจี๊ยบ พุทราจีน และมะตูมต้มรวมกัน ช่วยลดไขมันในหลอดเลือด
อันดับที่ 2 : เรื่อง กฟภ. แจ้งผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนภูมิภาคประเภทบ้าน นโยบายรับเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า จากรายชื่อตกหล่น รับเงินคืนที่ www.sr-th.com
อันดับที่ 3 : เรื่อง วางโทรศัพท์ไว้บริเวณหัวนอน เสี่ยงได้รับคลื่นไมโครเวฟทำให้ตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมองเสียหาย
อันดับที่ 4 : เรื่อง ดาวน์โหลดแอปฯ PEA Smart Plus ผ่านลิงก์ https://pea.uhgo.cc/ ได้
อันดับที่ 5 : เรื่อง ห้ามกลั้นจาม เสี่ยงหลอดลมฉีก
อันดับที่ 6 : เรื่อง มีอาการผิดปกติทางอารมณ์ กระเพาะปัสสาวะเสื่อม ผมร่วง คือไตเริ่มอ่อนแรง
อันดับที่ 7 : เรื่อง 3 สัญญาณเตือน ไขมันพอกตับ
อันดับที่ 8 : เรื่อง สัญญาณเตือน ตับทำงานหนักมากเกินไป
อันดับที่ 9 : เรื่อง ทหารเข้าควบคุมรัฐบาลและหน่วยงานราชการทั้งหมด
อันดับที่ 10 : เรื่อง หากมองไม่เห็นตัวเลขในภาพ จะมีปัญหาสุขภาพ
ทั้งนี้ ดีอี มีความเป็นห่วงประชาชนในเรื่องความตระหนักและรู้เท่าทันสื่อออนไลน์/โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน และมีการส่งต่อข้อมูลข่าวปลอมเหล่านี้ ก็จะทำให้ได้รับข้อมูลผิดๆ และส่งผลกระทบกับประชาชนที่หลงเชื่อข่าวปลอม ดังกล่าว โดยสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์
https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง”
ที่มา รัฐบาล