รีเซต

ไทยปรับแผนพัฒนาฯฉบับ 12 ,ยุทธศาสตร์ชาติ สู้ COVID-19

ไทยปรับแผนพัฒนาฯฉบับ 12 ,ยุทธศาสตร์ชาติ สู้ COVID-19
TNN ช่อง16
22 กันยายน 2563 ( 10:44 )
1.3K
ไทยปรับแผนพัฒนาฯฉบับ 12 ,ยุทธศาสตร์ชาติ สู้ COVID-19

ปัจจุบันประเทศไทย อยู่ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ระหว่างปี 2560-2564 ซึ่งเป็นแผนแห่ง การปฎิรูปประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผ่านมาเกินครึ่งทางแล้ว เราอยู่ตรงไหนในแผนฯ 


ดูภาพเศรษฐกิจไทยในระยะหลัง ตั้งแต่ปี 2560 ของแผนฯ 12 เศรษฐกิจไทยเติบโต 4.1% ไล่มาปี 2561 เติบโต 4.2% และปี 2562 เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ทำให้ GDP ไทย เหลือ 2.4% เป็นช่วงที่เราได้รับผลกระทบในภาคการส่งออกรุนแรง ค่าเฉลี่ยถ้านับเฉพาะ 3 ปีนี้ อยู่ที่สูงกว่า 3% แต่ในปีนี้ ประมาณการณ์ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. อยู่ที่ติดลบ 7.5% จากผลกระทบโควิด-19 


เมื่อมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ต้องมองเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ในปี 2563 อยู่ที่อันดับ 29 จาก 63 ประเทศ ลดลงจากปี 2562 ที่อยู่ระดับ 25 

5 อันดับแรกของโลก ประกอบไปด้วย สิงคโปร์ ,เดนมาร์ก, สวิตเซอร์แลนด์ ,เนเธอร์แลนด์ และฮ่องกง 

และ 5 อันดับแรกของอาเซียน คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย อันดับที่ 3 ของอาเซียน ตามมาด้วย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ  

การพิจารณาความสามารถในการแข่งขัน แยกเป็น 4 ด้านสำคัญ คือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยได้ อันดับ 14 ,ประสิทธิภาพภาครัฐ อันดับ 23 , ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ อันดับ 23 และโครงสร้างพื้นฐาน อันดับ 44 นี่คือยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน 

ดูต่อไปในมุมสังคม ยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้้าในสังคม นับเป็นปัญหาที่มีการแก้ไขกันทุกยุคทุกสมัยในประเทศไทย และเป็นปัญหาในทั่วโลกที่ยังไม่มีประเทศใด แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม 


เช่นเดียวกับในประเทศไทย ยังคงเกิดความยากจนในประเทศ แต่ดูจากสัดส่วนคนจน และปริมาณคนจน ลดลงตามลำดับ โดยในปี 2550 สัดส่วนคนจนสูงถึง 20.04% จำนวน 12.7 ล้านคน ขณะที่ปี 2561 สัดส่วนคนจนลดลงเหลือ 9.85%ของประชากรทั้งหมด เหลือคนจนจำนวน 6.7 ล้านคน เท่ากับ 11 ปี ที่ผ่านมา คนจนลดลง 6 ล้านคน ในขณะที่เส้นแบ่งรายได้ ความยากจนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม สศช. เชื่อว่า ปี 2563 ปริมาณคนจน และสัดส่วนจะเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์โควิด-19 



อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ คือ สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ตามตารางนี้ แบ่งกลุ่มรายได้ของประชากรไทยเอาไว้ 10 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มคนที่จนที่สุด ข้อมูลล่าสุด ปี 2560 สัดส่วนรายได้อยู่ที่ 1.83% ของรายได้ประชากรทั้งหมด เทียบกับกลุ่มที่ 10 ประชากรที่รวยที่สุด 10% แรกของไทย มีรายได้ 35.29% ของรายได้ประชากรทั้งประเทศ 

ข้อสังเกตุของสศช.  
- สัดส่วนรายได้ของคนรวยที่สุด สูงกว่าสัดส่วนรายได้ของคนจนที่สุด ถึง 19.29 เท่า
- กลุ่มชนช้ันกลาง - กลางล่าง decile ที่ 2-7 มีสัดส่วนรายได้รวมเท่ากับ 35.33% ขณะที่กลุ่ม decile ที่ 8-10 มีสัดส่วนรายได้ถึง 62.84% 
- ข้อมูลดังกล่าว สะท้อนถึงการกระจุกตัวของรายได้ในกลุ่มบน และการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่ทั่วถึงไปสู่คนกลุ่มล่าง 



แน่นอนว่า เป้าหมายต่างๆ มีทั้งเป็นไปในทิศทางที่ดี และมีอีกหลายส่วนที่รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนฯ 12 มานัก โดยเฉพาะวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย อย่างโควิด-19 และทั่วโลกได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ไปจนถึงล็อคดาวน์ ในประเทศไทยเอง มีจำนวนผู้ว่างงานในไตรมาส 2 สูงถึง 7.45 แสนคน หรือมีอัตราการว่างงาน 1.95% เพิ่มจากไตรมาสก่อนที่ราว 1% ผู้ว่างงาน 4.78 แสนราย 

และเจาะไปดูรายกลุ่ม เริ่มจากแรงงานจบใหม่ปีละเฉลี่ย 5 แสนคน ไตรมาส 2 ปีที่แล้วว่างงาน 208,000 คน แต่ไตรมาส 2 ปีนี้ว่างงาน 266,543 คน หรือ เพิ่มขึ้น 28% , ภาคบริการและอื่นๆ จากผู้ว่างงานจาก 47,415 มาเป็น 124,635 คนในปีนี้ เพิ่มขึ้น 163% 

เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยว เพิ่มขึ้น 232% , ก่อสร้าง 312% ซึ่ง 2 กลุ่มนี้ น่าเป็นห่วงมาก เพราะอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นทะลุ 200% 

ส่วนภาคการผลิตหรืออุตสาหกรรม จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 126% และ เกษตรกรรม เพิ่มขึ้น 140% 



เมื่อเกิดผลกระทบโควิด-19 จึงเป็นที่มาสำหรับการปรับแผนพัฒนาฯ ฉบับ 12 โดยยังยึดเป้าหมายตามกรอบ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เอาไว้ 6 เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความมั่นคง,การสร้างความสามารถในการแข่งขัน,การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์, การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม,การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสังคม และการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ทั้งหมดยังคงอยู่ 

ส่วน 23 แผนแม่บท ยังสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ และสามารถเพิ่มแผนแม่บทเฉพาะกิจ ในช่วงระยะ 2564-2565 นี้ โดยจะใช้งบประมาณตามแผนฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท, งบประมาณโครงการสำคัญปี 2564 และ 2565 เข้ามาร่วมฟื้นฟูประเทศจากโควิด-19  



คำถามคือ งบประมาณต่างๆ ทั้งการกู้เงิน และงบประมาณปกติ 64-65 จะต้องดำเนินการอย่างไร แล้วประเทศไทย จะต้องเดินไปทางไหน ล่าสุด สศช. เปิดเผย แนวทางการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป คำสำคัญ คือ  ปรับจุดอ่อน เปลี่ยนวิกฤต เป็นโอกาส ประกอบด้วย 4 ข้อ เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ภายในประเทศ (Local Economy) เพื่อวางฐานรากที่มั่นคงและยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม , พัฒนาคุณภาพทุนมนุษย์ให้พร้อมรับวิกฤต , ฟื้นฟูและพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน และ ข้อ 4 ยกระดับคุณภาพ และขยายผลการพัฒนารัฐบาล ดิจิทัลให้เข้าถึงง่าย รวดเร็ว และตรงต่อความต้องการ 

นอกจากนี้ ยังต้องเสริมจุดแข็งเดิม ด้วยการ ต่อยอดภาคเกษตรและทุนวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของท้องถิ่น และ สนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างต่อเนื่อง

และเสริมจุดแข็งใหม่  ทั้งการ ยกระดับการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและปลอดภัย ,สนับสนุนการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาด้านบริการ โดยเฉพาะบริการแห่งอนาคต , ส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Start-Up และ ส่งเสริมเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมทำประโยชน์ให้สังคม และฟื้นฟูประเทศ

โจทย์สำคัญของวิกฤตโควิด-19 นี้ แม้ประเทศไทย แม้จะคุมการแพร่ระบาดได้ดี แต่ทั่วโลกยังวิกฤตหนัก จนทำให้เศรษฐกิจประเทศไทย ที่พึ่งพารายได้จากต่างชาติ ทั้งการท่องเที่ยว และส่งออก ได้รับผลกระทบหนัก

 
 
รัฐบาลจึงต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ด้วยการผลักดันพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ ทั้งภาคเหนือ ,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ,ภาคกลาง และภาคใต้ เชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC ปัจจุบัน ซึ่งเป็นการขยายพื้นที่การพัฒนาไปยังภูมิภาคมากขึ้น 



เมื่อมีแผนฯ ในการพัฒนาประเทศ ขยายระเบียงเศรษบกิจ แล้วจะต้องดึงดูดเม็ดเงินลงทุน จากทั้งในประเทศไทยเอง และนักลงทุนต่างชาติ และเมื่อพิจารณาจากข้อมูล และความน่าสนใจลงทุน ต่างชาติจะดูหลักๆ 2 ตัว คือ ประเทศที่เหมาะสมการเริ่มต้นธุรกิจ ประจำปี 2563 นี่เป็นดัชนีแรกๆ ที่ทำหลักโควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลก แน่นอนระบบสาธารณสุข ถูกนำไปคำนวน ในการดำเนินธุรกิจด้วย เพราะนอกจากเป็นผลกระทบด้านสาธารณสุขแล้ว ยังกระทบการดำเนินธุรกิจด้วย ดังนั้น ประเทศไทย ที่คุมโควิด-19 ได้ดี แม้จะเป็นประเทศแรกที่รับเชื้อนอกประเทศจีน และยังไม่มีการแพร่ระบาดรอบ 2 จึงมาเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยมาเลเซีย จีน สิงคโปร์ และอินเดีย ตามลำดับ 

ขณะที่ การจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ปี 2563 ไทยพุ่งไปอยู่อันดับ 21 ดีที่สุดในรอบ 6 ปี นี่คือโอกาสสำหรับการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ในช่วงที่ต้องซัพพลายเชนของโลกกำลังเปลี่ยนทิศในขณะนี้ 



ระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่งของประเทศไทย จนได้รับการยกย่องไปทั่วโลก เป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนายกระดับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ อย่างการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีการสำรวจกันในปี 2559-2560 ประเทศไทย อยู่อันดับ 18 ของโลก  และตลาดนี้เติบโต 14% ต่อปี ขณะที่ประเทศไทย มีมูลค่า 2 แสนล้านบาท และมีการเติบโตเพียง 7% จากข้อมูลนี้ แสดงให้เห็นว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยังมีโอกาสเติบโตได้สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากระบบสาธารณสุขของไทย คุมโควิด-19 ได้ และเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก 

แนวทางการพัฒนาตามแผนฯ 12 ที่ปรับปรุง จะสามารถดำเนินการเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุน และยกระดับการท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างไร และเป้าหมายสำคัญ คือไทย จะก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วใน 2579 ตามยุทธศาสตร์ชาติ หรือไม่ ยังคงต้องติดตาม  

ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน ไทยปรับแผนพัฒนาฯฉบับ 12 ,ยุทธศาสตร์ชาติ สู้ COVID-19
ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=nB-ErNwRsCo

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง