ภัยโรคระบาดยังไม่คลี่คลาย อินเดียเจอภัยพายุไซโคลนลูกแรกของฤดูมรสุม
ข่าววันนี้ พายุไซโคลน "เตาะแต่" ก่อตัวในทะเลอาหรับ นอกชายฝั่งรัฐกรณาฏกะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ถือเป็นพายุโซนร้อนขนาดใหญ่ลูกแรกของอินเดียในฤดูพายุปีนี้
พายุกำลังเคลื่อนตัวขึ้นเหนือขนานกับชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย และเตรียมขึ้นฝั่งพัดถล่มในวันนี้
อิทธิพลของพายุทำให้เกิดฝนตกหนัก ฟ้าคะนอง และลมแรงในหลายรัฐ มีแนวโน้มว่า จะทวีกำลังแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมีรายงานผู้เสียชีวิตจากอิทธิพลของพายุแล้ว 6 คน บ้านเรือนเสียหายนับ 100 หลัง ภัยธรรมชาติครั้งนี้เข้ามาแทรกกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังหนักหน่วงในอินเดีย
ขณะที่นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรัฐต่าง ๆ เตรียมพร้อมรับมือกับพายุไซโคลนลูกแรกนี้อย่างเต็มที่ เบื้องต้น ทีมรับมือภัยพิบัติมากกว่า 50 ทีมของกองกำลังรับมือภัยพิบัติแห่งชาติ เตรียมพร้อมปฏิบัติหน้าที่ใน 5 รัฐ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุลูกนี้ ได้แก่ เกรละ กรณาฏกะ ทมิฬนาฑู คุชราต และมหาราษฏระ
มีรายงานว่า ชาวบ้านกว่า 75,000 คน เตรียมอพยพจากหลายอำเภอชายฝั่งของรัฐคุชราต ที่ซึ่งทางการสั่งระงับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว
อินเดียเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากพายุมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ส่วนหนึ่งเพราะมีชายฝั่งยาว 8,041 กิโลเมตร เมื่อเก็บสถิติพบว่า อินเดียเป็นประเทศที่เจอพายุโซนร้อนเกือบ 10% ของโลก โดยเฉลี่ยแล้วพายุโซนร้อนจะก่อตัวขึ้นปีละห้าถึงหกลูก ในจำนวนนี้มีสองหรือสามลูกที่มีพลังทำลายล้างสูง สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างเมื่อเคลื่อนตัวถล่มพื้นที่ชุมชน
โรงพยาบาลในเขตที่ได้รับผลกระทบ กำลังสำรองแหล่งจ่ายไฟ โดยเฉพาะที่รัฐมหาราษฏระ กล่าวว่า ออกซิเจนและแหล่งจ่ายไฟจะไม่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งผู้ป่วยโควิด-19 หลายร้อยคนจะถูกเคลื่อนย้ายออกจากโรงพยาบาลภาคสนาม เพื่อความปลอดภัย
ภาพ : Indranil MUKHERJEE / AFP