รีเซต

ห่วงอนาคตเด็กไทย! รัฐเพิ่มทักษะด้านอาชีพนักเรียนยากจน ที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบ ม.3

ห่วงอนาคตเด็กไทย! รัฐเพิ่มทักษะด้านอาชีพนักเรียนยากจน ที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบ ม.3
TNN ช่อง16
11 มีนาคม 2564 ( 14:47 )
146
ห่วงอนาคตเด็กไทย! รัฐเพิ่มทักษะด้านอาชีพนักเรียนยากจน ที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบ ม.3







วันที่ 11 มีนาคม 2564 นายสมศักดิ์  สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย พ.ต.ท.กีรป  กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายกมลธรรม  วาสบุญมา รองเลขาธิการฯ และคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เดินทางลงพื้นที่จังหวัดลำปาง ร่วมตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานโครงการ "เพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3)" ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนสำคัญ คือ การเปิดรับสมัครนักเรียนเข้าศึกษาฝึกอบรมงานวิชาชีพ พร้อมทั้งได้ร่วมพบปะกับคณะครูอาจารย์และเยาวชนนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อทำการชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับโอกาสและผลประโยชน์ที่จากการเข้าร่วมโครงการฯ ณ ห้องประชุมสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 10 ลำปาง ตำบลปงแสนทอง อำเภอเมืองลำปาง 



โดยมี นายณรงค์ศักดิ์  โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับคณะฯ พร้อมนำเสนอข้อมูลผลความคืบหน้าในการดำเนินงานโครงการ ทั้งในเรื่องหลักสูตรวิชาชีพ แนวทางการช่วยเหลือในช่วงระหว่างเรียน รวมถึงโอกาสและผลประโยชน์ที่จะได้รับหลังจบหลักสูตร


ทั้งนี้ สำหรับโครงการ "เพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจน ที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3)" เป็นโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา เพื่อจะต่อยอดอนาคตพัฒนาเด็กไทยให้มีทักษะฝีมือด้านอาชีพก่อนการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานหลายภาคส่วน 


โดยนายสมศักดิ์  สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นด้วยการบูรณาการร่วมกันของ 4 กระทรวงหลัก ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยทั้งหมดเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสำรวจที่ได้พบว่าในแต่ละปีการศึกษา จะมีเด็กนักเรียนเยาวชนที่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) แล้วไม่ได้ศึกษาเรียนต่ออยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจนทำให้เยาวชนมีความจำเป็นต้องหยุดเรียน และพาตนเองเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังเรียนจบเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว ซึ่งเป็นการเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานไร้ฝีมือ” ได้ค่าแรงรายวันเป็นอัตราค่าแรงขั้นต่ำประมาณวันละ 300 บาท 


ดังนั้นจึงได้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการดังกล่าวเพื่อจะฝึกทักษะด้านอาชีพให้แก่นักเรียนกลุ่มเป้าหมาย ด้วยหลักสูตรระยะสั้น 4 - 6 เดือน ซึ่งจะช่วยให้เด็กเยาวชนกลุ่มดังกล่าวมีทักษะ สามารถก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานมีฝีมือ” ในตำแหน่งงานผู้ช่วยช่าง หรือ ช่างสาขาต่างๆ ตามที่ได้ผ่านการฝึกอบรม และจะได้รับค่าแรงงานในอัตราที่สูงขึ้นเป็นวันละ 400 -500 บาท



โดยในส่วนของความช่วยเหลือนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงระหว่างการศึกษาและฝึกอบรม เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฝึกอาชีพตลอดระยะเวลา 4 - 6 เดือน จะไม่มีค่าใช้จ่ายในการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งทางโครงการฯ จะมีหลักสูตรให้เยาวชนเลือกเข้ารับการฝึกอบรมได้ฟรี พร้อมทั้งมีที่พักและอาหารให้ อีกทั้งในช่วงระหว่างการอบรมผู้เข้าร่วมโครงการฯ ยังจะได้รับการสนับสนุนเงินสงเคราะห์ฯ จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด เพื่อเป็นทุนสำหรับใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็นนอกเหนือจากการช่วยเหลือที่ได้รับ เฉลี่ยอีกประมาณเดือนละ 6,000 - 8,000 บาท ตลอดจนเมื่อแล้วเสร็จจากการฝึกอบรม สำนักงานจัดหางานจังหวัด จะได้มีการจัดเตรียมหางานตำแหน่งว่าง ไว้รองรับให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมเลือก เพื่อประกอบอาชีพและมีรายได้ทันทีหลังจบหลักสูตร




โดยเยาวชนผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ สถาบัน/สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานประจำจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา โรงเรียนระดับประถมศึกษา(ขยายโอกาส) และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ทุกแห่งทั่วประเทศ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง