อนามัยโลกชี้จำนวนผู้รับวัคซีนต้านโควิดสูง ช่วยสกัดไวรัสกลายพันธุ์
นายไมค์ ไรอัน หัวหน้าฝ่ายฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ยิ่งสัดส่วนของการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเท่าใด ก็จะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของไวรัสกลายพันธุ์ได้มากขึ้นเท่านั้น
ไรอันกล่าวระหว่างแถลงข่าวว่า จำเป็นจะต้องมีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ได้ถึงอย่างน้อย 80% หากต้องการให้เกิดการลดความเสี่ยงที่ได้ผลในเคสที่มีความเชื่อมโยงกับการนำเข้าผู้ป่วยติดเชื้อจากต่างแดน ซึ่งกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่หรือทำให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างขึ้นตามมา
ไรอันรับว่าในความเป็นจริงแล้วตัวเลขสัดส่วนว่าจำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เท่าไหร่ถึงจะช่วยลดผลกระทบของการแพร่ระบาดได้อย่างเต็มที่นั้นยังคงไม่มีความชัดเจน แต่ขณะนี้คิดว่าตัวเลขที่ 80% น่าจะเป็นสัดส่วนที่ช่วยได้ เพราะจำเป็นต้องมีระดับการฉีดวัคซีนในสัดส่วนสูง เพื่อให้สามารถป้องกันการติดเชื้อกลายพันธุ์ได้นั่นเอง
ด้านมาเรีย แวน เคิร์กฮอฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคขององค์การอนามัยโลกต่อกรณีโควิด-19 กล่าวว่า ขณะนี้โควิดกลายพันธุ์เดลต้า (หรือที่เคยเรียกว่าสายพันธุ์อินเดีย) แพร่กระจายไปในมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก และมีความสามารถในการแพร่ระบาดได้มากกว่าโควิดกลายพันธุ์อัลฟ่า ซึ่งพบขึ้นครั้งแรกในอังกฤษ
เคิร์กฮอฟแสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการแพร่ระบาด ซึ่งผสมผสานกับการที่มีการผ่อนคลายมาตรการทางด้านสาธารณสุขและด้านสังคมในหลายประเทศ รวมถึงการกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 อย่างไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ด้านนายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้นำของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ (จี7) ซึ่งมีกำหนดจะหารือกันในสัปดาห์นี้ที่อังกฤษ ช่วยให้การสนับสนุนโครงการวัคซีนต้านโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก เพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกด้วย