รีเซต

จับตา ‘ญี่ปุ่น’ กับการเดินหน้านโยบายต่างประเทศ-การทหารครั้งใหญ่

จับตา ‘ญี่ปุ่น’ กับการเดินหน้านโยบายต่างประเทศ-การทหารครั้งใหญ่
TNN ช่อง16
4 มกราคม 2566 ( 16:50 )
80

---บทบาทของญี่ปุ่นบนเวที UNSC---


ญี่ปุ่นได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC โดยมีกำหนดวาระละ 2 ปี สิ้นวาระในปี 2024 


ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ในเวทีดังกล่าว นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ มีโอกาสที่จะหยิบยกประเด็นต่าง ๆ เข้าสู่ที่ประชุม อาทิ “ไต้หวัน” ซึ่งอาจทำให้จีนไม่พอใจอยู่ไม่น้อย 


ในการกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันปีใหม่ นายกฯ คิชิดะ ระบุว่า จะใช้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อโปรโมตนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่น


คิชิดะ ระบุว่า ญี่ปุ่น “จะปฏิเสธทุกความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ (status quo) ด้วยกำลัง และจะทำงานเพื่อต่อต้าน “ภัยคุกคามจากนิวเคลียร์” แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจากที่ใด ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ความมั่นคงที่เลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2


ในสุนทรพจน์ คิชิดะยังได้กล่าวต่อว่ารัสเซีย กรณีใช้กำลังโจมตียูเครน และกล่าวหาว่ารัสเซียพยายามจะทำลายระเบียบโลก ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาเดียวกันกับที่โตเกียวเคยกล่าวหาจีน กับพฤติกรรมในเอเชีย-แปซิฟิก 


คิชิดะ ยังระบุอีกว่า ญี่ปุ่นจะเดินหน้ายื่นเรื่องขอปฏิรูป UNSC ด้วย โดยวิพากษ์ว่า มติต่าง ๆ ต้องกลายเป็นอัมพาต จากการใช้สิทธิ์ในการวีโต้ของประเทศสมาชิกถาวร ซึ่งประกอบด้วย รัสเซีย จีน สหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส





---นักวิเคราะห์ชี้ ญี่ปุ่นอาจทำจีน-รัสเซียไม่พอใจ---


อากิโตชิ มิยาชิตะ ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แห่งมหาวิทยาลัยนานาชาติโตเกียว ระบุว่า ประเด็นดังกล่าว จะทำให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญหน้ากับจีนและรัสเซียอย่างแน่นอน เพราะก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นก็เคยเสนอให้ขยายสภาความมั่นคง โดยให้รวมตัวเองเข้าไปด้วย รวมถึงสมาชิกอื่น ๆ อย่าง อินเดีย เยอรมนี หรือตัวแทนจากสหภาพแอฟริกา 


อย่างไรก็ดี การใช้สิทธิ์วีโต้ ทำให้ยูเอ็น ไม่สามารถมีมาตรการที่ชัดเจนต่อการที่รัสเซียแทรกแซงยูเครนได้ หรือกรณีที่เกาหลีเหนือเดินหน้ายั่วยุอย่างต่อเนื่อง ด้วยการยิงทดสอบขีปนาวุธรวมเกือบ 90 ลูกเมื่อปีที่แล้ว


สเตฟานี นากี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยคริสเตียน ในกรุงโตเกียว ระบุว่า ความคาดหวังของคิชิดะในการปฏิรูป UNSC ดูจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริง แต่อย่างน้อย ญี่ปุ่นก็จะสามารถหยิบประเด็นสำคัญขึ้นมาหารือได้ เช่น การตอกย้ำความจำเป็นในการเกิดสันติภาพและสเถียรภาพบริเวณช่องแคบไต้หวัน และการให้โลกใบนี้ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์


---ทำเนียบขาวเตรียมต้อนรับคิชิดะ 13 ม.ค.นี้---


อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวประกาศเมื่อวันอังคาร (3 มกราคม) ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมเป็นเจ้าบ้านต้อนรับนายกฯ คิชิดะ ในวันที่ 13 มกราคมนี้ เพื่อสานสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น


ประเด็นที่จะหารือมีตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ จีน และรัสเซีย อีกทั้งไบเดนเตรียมประกาศสนับสนุนการเป็นประธาน G7 ของญี่ปุ่น และการเป็นสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC ด้วย


การประชุม G7 เป็นอีกเวทีที่ญี่ปุ่นจะได้มีโอกาส ในการย้ำในหลักการที่ญี่ปุ่นยึดมั่นว่า “โลกควรปราศจากนิวเคลียร์” และการแถลงไขกรณีที่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพด้านกลาโหม 


ขณะที่กำลังต้องเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงในภูมิภาคหลากหลายด้าน ทำให้จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมเพิ่มขึ้น 2 เท่า เป็น 2% ต่อ GDP ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ตลอดจนการประกาศแผนการจัดหาอาวุธโจมตีที่สามารถกำหนดเป้าหมายไปยังประเทศอื่น ๆ ได้ เมื่อมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพสมัยหลังสงครามโลก


แต่สิ่งที่นักวิเคราะห์เตือน คือ คิชิดะ จะต้องระมัดระวังอย่างมาก ที่จะไม่วาดภาพให้ญี่ปุ่นเป็น “เหยื่อ” ในประเด็นเรื่องความมั่นคง เพราะจีนจะไม่มีวันคล้อยตาม โดยต้องไม่ลืมว่า ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเองเคยทำอะไรเอาไว้ และมันจะเหมือนเป็นความพยายามในการล้างบาปในประวัติศาสตร์ ซึ่งนั่นจะยิ่งส่งผลร้ายต่อตัวของคิชิดะเอง 

—————

แปล-เรียบเรียง: ภัทร จินตนะกุล   

ภาพ: Reuters 


ข้อมูลอ้างอิง:

12


ข่าวที่เกี่ยวข้อง