รีเซต

กรมการแพทย์เตือนตะขาบกัดให้รีบรักษา เพราะอาจติดเชื้อจนถึงแก่ชีวิตได้

กรมการแพทย์เตือนตะขาบกัดให้รีบรักษา  เพราะอาจติดเชื้อจนถึงแก่ชีวิตได้
TrueID
8 ตุลาคม 2563 ( 11:14 )
496
กรมการแพทย์เตือนตะขาบกัดให้รีบรักษา  เพราะอาจติดเชื้อจนถึงแก่ชีวิตได้

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง  เตือนผู้ที่ถูกตะขาบกัดควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เพราะอาจมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ พร้อมแนะวิธีการรักษาและการปฏิบัติตนให้ถูกวิธี 

 


นายแพทย์สมศักดิ์  อรรฆศิลป์  อธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า  จากกรณีที่อดีตนักมวยชื่อดังได้เสียชีวิต  และญาติระบุว่าถูกตะขาบกัดที่บริเวณต้นขา  มีอาการหนาวสั่น เวียนหัว เป็นไข้  แล้วปล่อยไว้หลายวันจนแผลติดเชื้อ  จึงเข้ารับการรักษา  ทำให้มีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ประกอบกับมีโรคประจำตัวเบาหวาน  จึงมีอาการโคม่าจนเสียชีวิตนั้น กรณีนี้ขอเรียนว่า ตะขาบ (Centipedes) จัดอยู่ใน Class Chilopoda เป็นสัตว์ขาข้อที่พบได้ทั่วไปในแถบร้อนชื้น  อาศัยอยู่บนบก  ตะขาบมีขนาดความยาวลำตัวตั้งแต่ 3 – 8 เซนติเมตร ลำตัวแบนราบ  มีปล้อง 15 – 100 ปล้อง แต่ละปล้องมีขา 1 คู่ ส่วนหัวแยกจากลำตัวชัดเจน มีหนวด 1 คู่   โดยมีเขี้ยวพิษ 1 คู่ ซึ่งดัดแปลงมาจากปล้องแรกของลำตัวเชื่อมต่อกับต่อมพิษ   พิษของตะขาบประกอบด้วยสารสองกลุ่มใหญ่ คือ 1. สารที่เป็นเอนโซน์ หรือน้ำย่อย  ซึ่งสารหลักในกลุ่มนี้คือ proteinases และ esterases 2. สารก่อปฏิกิริยาอักเสบต่อร่างกาย ได้แก่ hydroxytryptamine หรือ cytolysin 

 


แพทย์หญิงมิ่งขวัญ  วิชัยดิษฐ  ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง  กรมการแพทย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า  อาการเมื่อถูกตะขาบกัด  จะพบรอยเขี้ยว 2 รอย  ลักษณะเป็นจุดเลือดออกตรงบริเวณที่ถูกกัด สารพิษจากตะขาบจะทำให้เกิดการอักเสบ ปวดบวมแดง ร้อน และชาตรงบริเวณที่ถูกกัด  อาการปวดมักจะมีความรุนแรงปานกลางถึงมาก โดยอาจจะมีอาการปวดแปลบ (paresthesia) ร่วมด้วย อาการแทรกซ้อน อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตรงบริเวณที่ถูกกัด อาจเป็นแผลไหม้อยู่ 2 – 3  วัน  ในบางรายอาจมีอาการแพ้หรือกระวนกระวาย อาเจียน หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ มึนงง ปวดศีรษะ  

 

ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การรักษาพิษของตะขาบ  โดยทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดหรือสบู่อ่อนๆ  ใช้ผ้าพันแผลพันไว้และประคบเย็น ให้ยาแก้ปวด  ถ้าปวดมากอาจใช้ยาชาเฉพาะที่ เช่น  Xylocane ฉีดเข้าตรงบริเวณที่ถูกกัด ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคถ้ามีการติดเชื้อแทรกซ้อน  และสอบถามเรื่องประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก  ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น บวมมาก ปวดมาก หรือมีประวัติของการแพ้มากให้รับไว้รักษาในโรงพยาบาลทันที  การพยากรณ์โรคโดยทั่วไป ผู้ป่วยจะสามารถหายได้ตามปกติ  โดยอาการปวดจะปวดมากในวันแรกๆ แต่จะหายภายใน 3-4 วันเป็นส่วนใหญ่  ทั้งนี้ เคยมีรายงานการเสียชีวิตจากตะขาบ 1 รายจากประเทศฟิลิปปินส์

 

 

ภาพโดย Steviamint จาก Pixabay 


*****************************************

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง